กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อสื่อต่างประเทศนำเสนอผู้เสียชีวิตจากการดื่มน้ำกระท่อมสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เนื่องจากได้รับสารไมตราไจนีนในปริมาณสูงเกินไป
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า เนื่องจากพืชกระท่อมมีสารไมตราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง และอาจนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่นิยมบริโภคเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในรูปของเม็ด เกล็ด ผง แคปซูล ของเหลว หรือรูปแบบอื่นๆ
โดยใช้รับประทานเสริมจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ เพื่อคาดหวังประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติแต่ไม่สามารถรับประทานอาหารหลักได้ครบ ไม่ใช่สำหรับผู้ป่วย จึงไม่มีผลในทางบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
อาการข้างเคียงที่พบคือ จะทำให้เกิดใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ประสาทหลอน กระสับกระส่าย เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถนำกระท่อมมายื่นขออนุญาต อย. เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนโบราณจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรืออาหาร ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้และปริมาณที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์
หากผู้จำหน่ายมีเจตนาเพื่อให้เกิดผลด้านสรรพคุณบรรเทา บำบัด รักษาโรค หรือเพื่อเกิดผลต่อสุขภาพ หรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้าง หรือการทำงานของร่างกาย ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค จะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งหากผู้จำหน่ายมีเจตนาให้บริโภคเพื่อค้ำจุนชีวิต ผลิตภัณฑ์นั้นต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ และได้รับเลขสารบบอาหารอย่างถูกต้องจึงจะจำหน่ายได้
อย่างไรก็ดี การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมอย่างปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินความปลอดภัย และได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภค (ไม่บริโภคมากเกินไป) และปฏิบัติตามข้อความคำเตือนบนฉลาก เช่น
ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน รวมทั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ต่อสุขภาพในทางบำบัด รักษาเพื่อความมั่นใจก่อนการบริโภค
ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected]
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,839 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565