สถานการณ์โรคเบาหวานทั่วโลก พบว่ามีผู้ป่วยมากถึง 400 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนในประเทศไทยเอง พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคนต่อปี และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ในระบบทะเบียนของกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 3.2 ล้านคน
“โรคเบาหวาน” เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
“โรคเบาหวาน” แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. เบาหวานที่เกิดจากการขาดอินซูลิน
2. เบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน
3 .เบาหวานเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์
4 .เบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม การทานยา และโรคของทางตับอ่อน
โดยโรคเบาหวานเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันทั้งจากพันธุกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินหรือภาวะโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ดื่มสุรา-สูบบุหรี่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นเบาหวาน
“หากพบว่ามีอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย กินจุกว่าเดิม น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นแผล แต่หายช้ากว่าปกติ อ่อนเพลีย มีอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัด ผิวหนังแห้งคัน รู้สึกชาบริเวณปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า ขอให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากเป็นสัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน”
โรคเบาหวานเป็นภัยเงียบของคนไทยที่ทำร้ายสุขภาพทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทั้งระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัว และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะมีอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน มีภาวะความเครียด ขาดการออกกำลังกาย และการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ฉะนั้นการป้องกันก่อนเกิดเบาหวานคือสิ่งที่สำคัญ หากประชาชนทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ดูแลใส่ใจสุขภาพกายและใจอย่างสม่ำเสมอ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็ย่อมช่วยให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้
สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวานเกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันกลับมาดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมดูแลสุขภาพให้มากขึ้น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ การพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
รวมถึงเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพลดการทานเนื้อสัตว์ เช่น อาหารคีโต อาหารวีแกนและอาหารจากพืช Plant-based ล้วนมีประโยชน์ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ตลอดจนการตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองเบาหวานอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
ขอบคุณข้อมูล จากโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565