“หัวใจ” และโรคเกี่ยวกับหัวใจ นั้น ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคที่มีความซับซ้อน และต้องใช้การแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงในปัจจุบันนี้ ยังคงมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาณอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งของโรคเกี่ยวกับหัวใจ
ก็คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) ซึ่งมักเกิดขึ้นกระทันหัน ซึ่งช่วงเวลาประมาณ 3 นาทีหลังจากมีอาการ ถือเป็นนาทีแห่งความเป็นและความตายเลยทีเดียว ดังนั้น การส่งต่อผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีก่อนถึงมือแพทย์ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน
โดยเราจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือช่วยชีวิตอยู่มากมายหลากหลายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ใครๆ ก็ใช้ได้ ไม่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูง โดยในวันนี้ ผมขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง ที่สามารถวิเคราะห์ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้แบบอัตโนมัติ และสามารถให้การรักษาด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจให้บีบตัวอย่างเป็นจังหวะ หรือช็อคกล้ามเนื้อหัวใจที่สั่นให้หยุดสั่นลงทันทีแล้วกลับมาทำงานปกติอีกครั้งในจังหวะที่ถูกต้อง
ซึ่งจริงๆ แล้ว คนทั่วไปที่ได้รับการฝึกฝนการใช้งานมาก่อน ก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้เอง หรือปฏิบัติภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผ่านสายด่วน 1669 ได้เช่นกัน และในประเทศที่พัฒนาแล้ว เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า AED ถือเป็นเครื่องมือช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ต้องมีอยู่ทุกแห่ง แต่สำหรับประเทศไทยในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น การนำเครื่อง AED มาใช้ อาจมีข้อจำกัดเรื่องราคาเครื่องที่ค่อนข้างสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงประชาชนอาจยังมีความรู้และความเข้าใจไม่มากพอเกี่ยวกับการรับมือภาวะฉุกเฉิน
จากผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ เกี่ยวกับ “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” (Sudden Cardiac Arrest หรือ SCA) พบว่า มีผู้ป่วย SCA ที่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลเพียง 1% เท่านั้น ที่ได้รับการช่วยชีวิตจากการทำ CPR (CardioPulmonary Resuscitation) ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย SCA เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละกว่า 350,000 เคส ซึ่งจะเห็นได้ว่า
หากมีการใช้เครื่อง AED อย่างถูกต้องภายใน 3 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึง 70% และผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นโดยไม่มีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ แต่หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป โอกาสรอดชีวิตจะลดลง 10 % ทุกๆ 1 นาที เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงนานเกินไป
เครื่อง AED ที่เราพูดถึงอยู่นี้ ถูกพัฒนาให้ใช้งานง่ายในรูปแบบอัตโนมัติ โดยตั้งแต่กดปุ่มเปิดเครื่อง เครื่องจะมีเสียงบอกให้รู้ว่าเราต้องทำอย่างไรต่อไปอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากผู้ช่วยเหลือจะต้องเปิดฝาเครื่อง AED ซึ่งจะมีซองบรรจุแผ่นนำไฟฟ้า หรืออิเล็คโทรด โดยติดแผ่นนำไฟฟ้าแผ่นแรกบนผิวบริเวณหน้าอกตอนบนของผู้ป่วย และติดแผ่นที่สองบนผิวหน้าอกตอนล่างของผู้ป่วย โดยเครื่องจะระบุวิธีติดแผ่นนำไฟฟ้าแสดงไว้ที่เครื่องหรือที่ตัวแผ่นนำไฟฟ้า ขึ้นกับเครื่องแต่ละรุ่น โดยต้องติดแผ่นนำไฟฟ้าให้แนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว
จากนั้นเครื่อง AED จะเริ่มวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และในขั้นตอนนี้สำคัญมากคือ ห้ามผู้ช่วยเหลือสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องอ่านจังหวะการเต้นของหัวใจผิดเพี้ยน และเมื่อเครื่องวินิจฉัยเสร็จ จะขึ้นสัญญาณให้ทำการช็อคไฟฟ้า โดยให้ผู้ช่วยเหลือกดที่ปุ่ม “Shock” ตามสัญญาณที่ปรากฏอยู่บนตัวเครื่อง และในขั้นตอนนี้ ก็ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยอย่างเด็ดขาดเช่นกัน
หลังจากนั้น จึงจะเริ่มทำ CPR ช่วยเหลือผู้ป่วยจนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง หรือจนกว่าเครื่องจะทำการวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งช่วงเวลาทองในการช่วยเหลือดังกล่าว ควรดำเนินการภายใน 3-5 นาที ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสกู้ชีพให้ผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่อยู่นอกพื้นที่โรงพยาบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญของกระบวนการกู้ชีพ คือ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตหรือปลอดภัยสูงสุดก่อนถึงมือแพทย์
ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า หลายๆ องค์กรหรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้า พื้นที่สาธารณะหรือในชุมชน มีความตื่นตัวกันมาก โดยจะเห็นได้จากการนำเครื่อง AED ไปติดตั้งเพิ่มมากขึ้น และเราสามารถเช็คจุดที่มีเครื่อง AED ให้บริการ ผ่านทาง www.aed.redcross.or.th หรือแอปพลิเคชัน “AED กระตุกหัวใจ” ได้ทั้งในระบบ iOS และ Andriod
อีกทั้งในปัจจุบัน กฎหมายได้กำหนดให้อาคารสูงต้องทำการติดตั้งจุดอุปกรณ์ AED ไว้ด้วย แต่ในทางปฏิบัติ อาคารต่างๆ ในอดีตหรือรูปแบบอาคารแบบเดิมๆ ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับกับการกู้ชีพฉุกเฉิน เช่น ที่จอดสำหรับรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน เป็นต้น รวมถึงอีกหลายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการรับมือกับเหตุฉุกเฉินและการเข้าถึงผู้ป่วยอย่างทันท่วงที
เครื่อง AED และนวัตกรรมเพื่อช่วยชีวิตคนเหล่านี้ มีความสำคัญมาก หากเรากระจายการติดตั้งอย่างทั่วถึงและเรียนรู้วิธีการใช้งานอย่างถูกต้อง ผมจึงอยากเชิญชวนภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานที่สาธารณะหรือห้างร้านต่างๆ มีการติดตั้งเครื่อง AED เพื่อที่เราจะสามารถกู้(หัว)ใจ ช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างทันการณ์ และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตเมื่อถึงมือแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกนาทีคือ นาทีทองแห่งการรอดชีวิต
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,854 วันที่ 19 - 21 มกราคม พ.ศ. 2566