องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยในรายงาน World report on vision 2022 ระบุว่า จำนวนผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2,200 ล้านคนมีประชากรอย่างน้อย 1,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของประชากรทั่วโลกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั้งระยะใกล้และระยะไกลที่สามารถป้องกันได้หรือยังสามารถแก้ไขได้หากมีการตรวจพบอย่างทันท่วงที
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ จากนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลายประเทศจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพดวงตาของประชากรมากขึ้นจากการเติบโตของประชากรสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สู่โหมดดิจิทัล
ขณะที่นพ.ศุภฤกษ์ ทิพาพงศ์ จักษุแพทย์ สาขาจอประสาทตาและวุ้นตา อาจารย์พิเศษสาขาจอประสาทตาและน้ำวุ้นตา ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประธานกรรมการบริหารและจักษุแพทย์ประจำศุภฤกษ์ วิชชั่น เซ็นเตอร์ กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ใช้สายตาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งการทำงานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพักผ่อนด้วยการดูโทรทัศน์เล่นเกมส์ และการเพ่งจอมือถือเพื่อสื่อสารตลอดเวลา
ทำให้ปัจจุบันพบผู้ที่มีปัญหาสายตาเข้ามาขอรับคำปรึกษาจำนวนมาก การดูแลสุขภาพตาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ควรตรวจสุขภาพตาและวัดค่าสายตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อค้นหาความผิดปกติของดวงตาและประสิทธิภาพของการมองเห็น หากเรามีวิธีดูแลสุขภาพดวงตาที่ยั่งยืนก็จะช่วยให้มีการมองเห็นที่ชัดเจนยืนยาว ชะลออายุดวงตาไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
ซึ่งการตรวจสุขภาพตาควรทำเป็นประจำ ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กในปัจจุบันมีกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในระยะมองใกล้เยอะมาก เช่น การเรียนออนไลน์ ดูยูทูป เล่นเกมส์ ฯลฯ จึงควรตรวจวัดค่าสายตาเป็นประจำ เพราะหากมีความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่เด็กก็อาจส่งผลถึงการเรียนในห้องเรียน การสังเกต การมองเห็น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ลดลง
ส่วนวัยผู้ใหญ่ก็ควรมีการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยวัยเด็ก-35 ปี มักพบว่า สายตาสั้นและตาแห้ง จากการจ้องจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ วัย 40 ปี จะเริ่มมีสายตายาวและโรคต้อหิน และเมื่ออยู่ในวัย 50-60 ปีมักจะพบโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือในบางรายที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ก็ควรระวังโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น
ขณะที่ผู้มีปัญหาทางสายตา ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพตาสามารถทำ “Check List โรคของดวงตาที่พึงระวัง” เพื่อเป็นจุดสังเกตในการขอรับคำปรึกษา ดังนี้
1. ปัญหาเรื่องเยื่อบุตา: ต้อลม ต้อเนื้อ
2. ปัญหากระจกตาผิดปกติ: กระจกตาย้วย แผลเป็นของกระจกตา
3. ช่องหน้าลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติไหม คัดกรองภาวะต้อหินมุมปิด
4. ปัญหาเลนส์ตา: ภาวะต้อกระจก
5. ปัญหาจอประสาทตา: ภาวะจอประสาทตาเสื่อม เบาหวานขึ้นจอประสาทตา
การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี จะช่วยป้องกันโรคทางตาที่จะเกิดขึ้นได้ และหากพบสาเหตุก็จะแก้ไขหรือปรึกษากับจักษุแพทย์ได้ทันเวลา
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566