วัคซีน HPV ลดเสี่ยง ‘มะเร็งปากมดลูก’

22 ม.ค. 2566 | 07:59 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 07:59 น.

Tricks for Life

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า “มะเร็งปากมดลูก” จัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ย 15 ราย/วัน หรือ 5,422 คน/ปี และเสียชีวิตเฉลี่ย 6 ราย/วัน หรือ 2,238 คน/ปี อย่างไรก็ดี ด้วยแผนผลักดันและนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทำให้แนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่สาเหตุของการเกิดโรค “มะเร็งปากมดลูก” เกิดได้มากมาย ทั้งการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้การสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นอีกปัจจัยร่วมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย

วัคซีน HPV ลดเสี่ยง ‘มะเร็งปากมดลูก’

ส่วนอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีตกขาว เลือดหรือของเหลวที่ผิดปกติออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ ในระยะลุกลามอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น

 

นายแพทย์ศุภกร พิทักษ์การกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า องค์กรด้านโรคมะเร็งต่างๆ ทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกในเดือนมกราคมของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักด้านการป้องกันโรคให้กับประชาชน สำหรับประเทศไทยก็มีหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ร่วมรณรงค์ในโอกาสนี้เช่นกัน

ในด้านนโยบายระดับประเทศมีการผลักดันให้การฉีดวัคซีน HPV โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้หญิงในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งถือเป็นวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจึงเหมาะสมในการได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV test ได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศ ผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 30-60 ปี สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV Test ได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในมะเร็งที่เราสามารถป้องกันได้จากการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงการเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายขาดจากโรคได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,853 วันที่ 15 - 18 มกราคม พ.ศ. 2566