PM2.5 กับผลกระทบทางผิวหนัง

12 ก.พ. 2566 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2566 | 02:20 น.

Tricks for Life

ฝุ่นละอองในอากาศเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทั่วโลกและกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ฝุ่นขนาดเล็กมาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑลและอีกหลายจังหวัด

ค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากประชาชนทั่วไปจะต้องเฝ้าระวังสุขภาพ ยังต้องลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง โดยเฉพาะประชาชน​ที่อยู่​บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ​ (พื้นที่สีแดง)​ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากนี้นอกจากจะทำให้มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผิวหนังด้วยเช่นกัน

PM2.5 กับผลกระทบทางผิวหนัง

เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนัง ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง และทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ

ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนัง จากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า การสัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่ การศึกษาในประเทศเยอรมนีและประเทศจีน พบว่าการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นเวลานานมีผลทำให้ผิวเสื่อมชรา

โดยพบการเกิดจุดด่างดำเพิ่มมากขึ้นบริเวณใบหน้าและการเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น การปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิมเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบมากยิ่งขึ้น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,861 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566