ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีการตั้งคำถามระหว่าง Medical Hub กับสุขภาพชุมชน ผลประโยชน์จากการนำเงินเข้าประเทศประเทศมหาศาล ที่อาจจะมาจากผลพวงปัญหาขาดแคลนแพทย์ และแพทย์สมองไหล ที่มีปัญหาเรื้อรังมานานมีโอกาสรุนแรงขึ้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า การส่งเสริม Medical Hub อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศที่เข้มแข็ง ย่อมได้มากกว่าเสีย แต่เราจะปิดช่องว่างเพื่อทำให้นโยบายดังกล่าวเกิดประโยชน์กับคนทุกระดับได้อย่างไร ถือเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ย้อนมองการส่งเสริม Medical Hub ถูกผลักดัน หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการ ณ โรงพยาบาลเอกชนในไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งมีการปรับตัวหลังจากที่ผู้ป่วยชาวไทยลดลง มีการตั้งคำถามถึงระบบสุขภาพโดยรวมของไทย กับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการแพทย์และการสาธารณสุข จนมีแผนที่ชัดเจนต่อเนื่อง
ทั้งแผนเชิงรุก ที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านสาธารณสุขและสุขภาวะในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือการเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลในทางการแพทย์ นโยบายการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ยาและวัคซีน ฯลฯ ทำให้เป้าหมาย Medical Hub ถูกฟูมฟัก พร้อมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ผนวกกับจุดแข็งของไทยเรื่อง Medical Tourism ด้วยแล้ว แนวโน้มเติบโตอีกมาก
ถ้าถอดความสำเร็จ ของนโยบายนี้ผมขอแยกออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกต้องยอมรับศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนไทย ซึ่งมีปริมาณโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานสถานพยาบาล JCI ติดอันดับโลกแล้ว ส่วนที่สอง โครงข่ายระบบสาธารณสุขที่มีทั้งเครือข่ายปฐมภูมิ ได้แก่เครือข่ายคลินิกบัตรทอง, ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ซึ่งได้แก่โรงพยาบาลขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และจตุตถภูมิ (Quaternary)
ได้แก่โรงพยาบาลที่มีการพัฒนาการรักษาทางการแพทย์ที่ซับซ้อน ด้วยการใช้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งจะพบในโรงพยาบาลแถบยุโรปหรือในส่วนประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ และมี Healthcare Ecosystem ที่หลากหลาย
ทำให้ปัจจุบันชาวต่างชาติในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะประเทศเมียนมาและกัมพูชา มีการนัดเข้ามารับบริการเกี่ยวกับโรคที่ยากและซับซ้อน ประเทศทางตะวันออกกลางนิยมเข้ามารักษาในประเทศไทยด้วยโรคเบาหวานเรื้อรังที่จำเป็นต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง ชาวออสเตรเลียนิยมเดินทางมารักษาด้านทันตกรรมในประเทศไทย
รวมถึงชาวจีนที่มักเลือกประเทศไทยเป็นประเทศในลำดับต้นต้นในการให้บริการเกี่ยวกับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก จากมิติในแง่ความเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย และความสามารถในด้านการแพทย์ที่เป็นที่ประจักษ์ นอกจากนี้ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักรักษาในไทยยังส่งเสริมเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศเติบโตไปด้วย
ทั้งนี้ ในการเติบโตของการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ แม้จะสร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าประเทศ มีสิ่งที่อยากชวนทุกท่านตระหนักร่วมกัน ความสามารถทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจะไม่ได้ประโยชน์เลยถ้าประชาชนคนไทยเอื้อมไม่ถึง ในบรรดาบริการสาธารณสุข
เครือข่ายปฐมภูมิถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่สำคัญที่จำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพ การให้บริการ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส หากได้รับความยอมรับจากประชาชนในทุกระดับในการเป็น Touch Point แรกก่อนส่งต่อเพื่อเข้าไปรับการรักษาทางในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่รับสิทธิสุขภาพต่างๆ
ผมเชื่อว่าจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลโดยเฉพาะตามต่างจังหวัด และยังเป็น 1 ในแนวทางที่ช่วยลดระยะเวลารอคอย ลดโอกาสความสูญเสีย และเพิ่มโอกาสการรักษาได้มากขึ้นเท่านั้น แม้ภาครัฐจะพยายามผลักดัน แต่ปราการด่านใหญ่และสำคัญก็คือทัศนคติ ความเชื่อมั่นของผู้คนต่อการเข้ารับบริการสาธารณสุขด้วย อีกกุญแจสำคัญในการกระจายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐาน
นอกจากเครือข่ายปฐมภูมิที่เป็นคลินิกบัตรทองแล้ว ยังดึงเอาร้านยา ซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้ชิดประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัดเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้บริการด้านสาธารณสุขในทุกระดับของประเทศ ดังจะเห็นได้จาก นโยบายร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยในกลุ่ม 16 อาการเช่นปวดไมเกรน ปวดหัว เป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก ฯลฯ ซึ่งจะเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่เข้ามาเติมเต็ม ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจบริการสาธารณสุขมากขึ้นด้วย
โจทย์ใหญ่ที่อยากชวนทุกท่านร่วมคิดไปพร้อมกัน ในห้วงที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กับการแข่งขันของประเทศต่างๆในโลกที่มีนโยบายดึงประชากรกลุ่มใหญ่ที่ใกล้เกษียณเข้ามาทำงาน และวางแผนพร้อมกับเกษียณที่ไทย บ้านเราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนโยบายรองรับผู้เกษียณชาวต่างชาติอย่างไร ให้เอื้อต่อผู้สูงอายุของไทยด้วย นโยบาย Medical Hub หรือ Medical Tourism หลังจากบริบทโลก ที่ถูกท้าทายด้วยปัจจัยใหม่ๆ ควรวางแนวทางอย่างไร ครั้งหน้าจะมาชวนทุกท่านคุยกันต่อเรื่องนี้ครับ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566