“โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิด เพราะหลายคนคิดว่าโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะไม่มีทางรักษาหายและทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ
แนวทางการวิจัยเพื่อนำเสนอนวัตกรรมการรักษามะเร็งจึงเกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่ ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลเวชธานีที่ศึกษาวิจัยนวัตกรรมการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลแบบใหม่ หรือ Cancer Vaccine และ Cancer Avatar เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสหายขาด และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
ถือเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย เหมาะกับผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการรักษาหลักตามมาตรฐาน เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น แต่ผลการรักษายังไม่ดีขึ้น
Cancer Vaccine เป็นการนำโปรตีนเซลล์มะเร็งที่ได้จากก้อนมะเร็งของผู้ป่วยมาสกัดเป็นวัคซีนแบบจำเพาะบุคคลเพื่อช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวในร่างกายรู้จักหน้าตาของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย และเมื่อใช้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะทำให้เม็ดเลือดขาวกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกายในระดับไมโครซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ข้อดีของการรักษาด้วย Cancer Vaccine คือ เป็นการรักษาที่จำเพาะ เพราะผลิตมาจากโปรตีนจำเพาะบนผิวเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย, มีผลข้างเคียงน้อยมาก เพราะกลไกการทำงานเน้นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำลายเซลล์มะเร็ง ดังนั้น เซลล์ปกติในร่างกายจะไม่ถูกทำลายไปด้วย, เมื่อใช้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น, ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากสามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือในระดับไมโครซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาได้
ส่วน Cancer Avatar คือกระบวนการทดสอบการตอบสนองต่อยาก่อนที่จะใช้ในผู้ป่วยจริง วิธีการคือตัดชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเซลล์มะเร็งนั้นเป็นตัวแทนมะเร็งของผู้ป่วยจริง ๆ จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับยารักษาแต่ละสูตรเพื่อดูการตอบสนองของเซลล์มะเร็ง ก่อนเริ่มใช้ยากับผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความมั่นใจและความแม่นยำในแนวทางการรักษาขั้นต่อไปได้
ข้อดีของการรักษาด้วย Cancer Avatar คือ สามารถทดสอบประสิทธิภาพของยากับเซลล์มะเร็งที่เป็นตัวแทนของก้อนมะเร็งในร่างกายผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการ ก่อนนำไปให้ผู้ป่วยจริง ช่วยให้สามารถเลือกยาที่มีอัตราการตอบสนองสูงสุดให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะรายนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น, เพิ่มความมั่นใจในแนวทางการรักษาให้กับผู้ป่วย สามารถเลือกยาที่มีประสิทธิภาพสูง และลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นได้, เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจรหัสพันธุกรรมมะเร็งมาใช้ร่วมกัน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่แม่นยำและเหมาะสมกับรอยโรคมากที่สุด
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,883 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566