7 ปัจจัยเสี่ยง รู้ไว้ ห่างไกล ‘สโตรก’

17 พ.ค. 2566 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 11:30 น.

7 ปัจจัยเสี่ยง รู้ไว้ ห่างไกล ‘สโตรก’ คอลัมน์ Tricks for Life

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ที่เป็นมักมีอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากมาถึงมือแพทย์เร็วทันเวลา ก็มีโอกาสรักษาให้หายเป็นปกติได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่หลอดเลือดสมองมีการอุดตัน ตีบ หรือแตก ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาการที่แสดงออกมีทั้ง หน้าเบี้ยว ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน อ่อนแรง ชาครึ่งซีก หรือเป็นอัมพาตแบบครึ่งซีก พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ เป็นต้น โดยมักเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป แต่พบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุเนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัย

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 mmHg เป็นระยะเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดเสื่อมการทำงานเร็วกว่าปกติ ส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ แตก หรืออุดตันได้

7 ปัจจัยเสี่ยง รู้ไว้ ห่างไกล ‘สโตรก’

โรคเบาหวาน ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดเสื่อมการทำงาน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดปัญหาหลอดเลือดสมองต่างๆ ที่กล่าวมาได้

โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคผนังหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดกระจายไปอุดเส้นเลือดสมองได้

โรคไขมันโลหิตสูง ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด เกิดการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสื่อม ส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ แตก หรืออุดตันได้

การสูบบุหรี่ มีสารที่เร่งความเสื่อมของหลอดเลือดสมอง เกิดภาวะโรคทางหลอดเลือดสมองได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 6 เท่า ดังคำกล่าวที่ว่า “The more you smoke the more you stroke”

7 ปัจจัยเสี่ยง รู้ไว้ ห่างไกล ‘สโตรก’

ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดกระจายไปอุดตันหลอดเลือดสมองและอวัยวะต่างๆได้

โรคอ้วนและขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจได้ เป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดสมองเสื่อม และเพิ่มการทำงานของหัวใจ ช่วยลดการเกิดปัญหาหลอดเลือดสมองได้อย่างมาก

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง คือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด โดยการที่เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เหมาะสม จะสามารถทำให้เนื้อสมองที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ โดยในระยะแรกที่เกิดอาการ แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วย หากมีข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและไม่มีข้อห้าม แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง

แต่ในกรณีที่มีหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์จะรักษาโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบและขึ้นไปที่สมอง เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดออกมา (Mechanical thrombectomy) การรักษาที่สามารถทำได้รวดเร็ว ส่งผลให้การบาดเจ็บของสมองที่เกิดขึ้นน้อยลง และได้ผลลัพธ์การทำงานของสมองที่ดี

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,887 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566