“หมอนรองกระดูก” ส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลัง ที่มักจะเริ่มเสื่อมตามวัยเมื่ออายุมากขึ้น บางรายเนื้อเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกฉีกขาดจนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนออกมาและอาจกดทับเส้นประสาท อาการที่เด่นชัด คือ “ปวดหลัง” หลังจากนั้นจะปวดร้าวลงขา อาจมีอาการชา อ่อนแรง หรือขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย
“เนื้อของหมอนรองกระดูกสันหลังจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกมีความยืดหยุ่นที่ลดลงจนไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้เหมือนเดิม ทำให้เกิดอาการปวดและมีอาการอื่น ๆ ของโรคนี้ตามมา” นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ บอกอีกว่า
สาเหตุอื่นที่ทำให้ผู้ที่มีอายุน้อยป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ มีทั้งการยกของหนักผิดท่าบ่อยๆ การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน การขับรถนานๆ น้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐาน หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ เพราะคนที่สูบบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หมอนรองกระดูกสันหลังได้น้อยลง
สำหรับอาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมจะมีอาการปวดคอ หรือปวดหลังแบบเป็น ๆ หายๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรัง หรือปวดแบบรุนแรงเมื่อเปลี่ยนท่าทางในกรณีที่มีการกดเบียดเส้นประสาทรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเดินลำบาก ไม่สมดุล เหมือนจะหกล้มได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได หรือก้าวขาขึ้นรถ
ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม หากเกิดความเสื่อมขึ้นแล้วจะเสื่อมเลย แต่เราสามารถชะลอความเสื่อมได้ เช่น การปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมกล้ามเนื้อหลัง ด้วยการออกกำลังกาย ว่ายน้ำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูก เช่น งดยกของหนักในท่าที่ผิด เลี่ยงการนั่งในท่าเดิมนานๆ ควรลุกขึ้นทุกๆ 2 ชม. ห้ามนั่งยองๆ หรือนั่งกับพื้นนานๆ จะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกได้
นอกจากนี้ยังมีเทคนิค Minimally Invasive Spine Surgery หรือ MIS Spine แบบครบวงจร เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังและกลัวการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดแผลใหญ่กลายเป็นแผลเล็ก ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ค่ารักษาโดยรวมถูกกว่าเดิม ผู้ป่วยจากเดิมที่เคยนอนโรงพยาบาล 2-3 สัปดาห์ หรือบางราย 1-2 เดือน แต่เมื่อรักษาด้วยวิธี MIS Spine ผู้ป่วยนอนที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืนเท่านั้น
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,909 วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566