จริยธรรม AI กับก้าวใหม่ในวงการเฮลท์แคร์

07 ก.ย. 2566 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 08:13 น.

จริยธรรม AI กับก้าวใหม่ในวงการเฮลท์แคร์ : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ นำพาโอกาสมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สู่การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้คน รวมไปถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งนับเป็นความท้าทายต่อโครงสร้างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมาย การกำกับดูแลหรือจริยธรรม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ยังคงต้องเรียนรู้ เพื่อหาจุดสมดุลของการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับวงการเฮลท์แคร์ เริ่มมีการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 3 -5 ปีที่ผ่านมานี้ มีทั้งการบริหารจัดการกระบวนการภายใน การลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความซ้ำซ้อน ติดตามและตรวจสอบประสิทธิภาพของการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ หรือ AI ที่เป็นตัวช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ หรือแม้แต่ช่วยในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรค ฯลฯ

จริยธรรม AI กับก้าวใหม่ในวงการเฮลท์แคร์

ดังตัวอย่างของบริษัท Medical Confidence ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CloudMD ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ เพื่อช่วยจับคู่ความต้องการในการรักษาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งช่วยลดระยะเวลารอการรักษาได้อย่างมาก จากเวลาหลายเดือนเหลือเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เป็นเพียงแค่สัญญาณที่บ่งบอกถึงการยกระดับศักยภาพในวงการแพทย์ของไทยสู่การเป็น Next Generation Hospital เท่านั้น แต่ยังเปิดประเด็นคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ AI ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยว่า มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร จุดสมดุลของการนำ AI มาใช้อยู่ที่ตรงไหน อีกทั้งเราควรให้ความสำคัญด้วยว่า การใช้ AI ในวงการแพทย์ให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล จะต้องใช้กฎกติกาใดเพื่อควบคุมและกำกับดูแลการใช้ AI เหล่านั้น

พื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยี AI คือการบริหารข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data แต่ในทางปฏิบัติพบว่าปัญหายอดนิยมของหลายองค์กรก็คือ ข้อมูลบางอย่างที่ถูกเก็บอยู่แต่ในเฉพาะกลุ่ม หรือ Data Silo ซึ่งการพัฒนา AI ให้มีความแม่นยำนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการรวบรวมข้อมูล (Data Collection Protocol) เพื่อแก้ปัญหา Data Silo ดังกล่าว รวมถึงการให้ความรู้และการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และในขณะเดียวกัน

เมื่อ AI เปรียบเสมือน “สมอง” ที่ช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัว ดังนั้น ระบบที่ดีควรมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย การรวบรวมชุดความรู้และข้อมูล แบบสหวิชาชีพ (Multi-Disciplinary Expertise) และการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างและประมวลข้อมูลเชิงลึกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

จริยธรรม AI กับก้าวใหม่ในวงการเฮลท์แคร์

เทคโนโลยี AI ยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ในด้านอื่นๆ เช่น AI อ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ หรือภาพ CT ที่ระบุรายละเอียดที่สำคัญทางรังสี บ่งชี้รอยโรคที่แพทย์อาจมองข้ามได้ แต่การใช้ AI อ่านฟิล์มเอ็กซเรย์นั้น แม้จะสามารถคัดกรองโรคได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้แม่นยำ 100% เพราะภาพเอ็กซเรย์ที่นำมาเทรนในระบบ AI เป็นโมเดลที่เทรนด้วยข้อมูลรูปร่างสรีระของชาวต่างชาติ จึงยังไม่สามารถเทียบเคียงกับภาพเอ็กซเรย์ของคนเอเชียได้ทั้งหมด ดังนั้น การใช้งาน AI ยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ เพื่อลดความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรค

ในขณะที่การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ยังต้องยึดหลักจรรยาบรรณและการรับผิดทางการแพทย์ หรือ Liabilities เทคโนโลยี AI เอง ก็ถูกถามหาเกี่ยวกับความรับผิดชอบ โดยต้องกำหนดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล (AI Governance) และความไว้วางใจได้ ( AI Ethics) เช่นกัน เพื่อเป็นกรอบในการใช้งาน AI ได้อย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน เพื่อทำให้องค์กรต่างๆ เกิดความไว้วางใจและขยายขอบเขตการใช้ AI ได้อย่างมั่นใจ

จริยธรรม AI กับก้าวใหม่ในวงการเฮลท์แคร์

ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพด้วยการใช้ AI (AI-Facilitated Healthcare) จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการช่วยบริหารจัดการกระบวนการวินิจฉัยโรค โดยยังคงมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยหรือตัดสินใจ ควบคู่ไปกับการเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มีโอกาสขึ้นได้ในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิวัฒนาการของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ตัวบทกฎหมายและการวางกรอบจริยธรรม AI รวมทั้งการนำ AI ไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ คนหรือบุคลากรที่ต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องเร่งสปีดตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ทันด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,918 วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2566