“เอกชน-ท้องถิ่น-เทคโนโลยี” 3 ตัวแปรท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านระบบบัตรทอง (1)

23 ก.ค. 2566 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 06:10 น.

“เอกชน-ท้องถิ่น-เทคโนโลยี” 3 ตัวแปรท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านระบบบัตรทอง (1) คอลัมน์ Healthcare Insight โดย ธานี มณีนุตร์ [email protected]

จากข้อมูลล่าสุดของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 5,487,078 คน ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนกว่า 700,000 คน โดยธรรมชาติของประชากรแฝงนั้น พวกเขาจะกลับไปที่ต่างจังหวัดเพื่อทำไร่ทำนาในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ก็จะกลับเข้ามาประกอบอาชีพใช้แรงงานในเมืองใหญ่

ผลที่ตามมาก็คือ จากเดิมที่มีการลงทะเบียนสิทธิบัตรทองไว้ในพื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อต้องกลับเข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพ ก็ไม่ได้แจ้งย้ายสิทธิตามมาด้วย ยามเจ็บป่วยมีความจำเป็นต้องใช้บริการสิทธิบัตรทอง จึงขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า

“เอกชน-ท้องถิ่น-เทคโนโลยี” 3 ตัวแปรท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านระบบบัตรทอง (1)

ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลผู้ให้บริการเอง ก็ประสบปัญหาในการรับ-ส่งต่อระบบบัตรทองที่ไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาทำให้ สปสช. ประสานความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็น “สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร” ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนเตียงในระบบได้เกือบ 600 เตียง และยังเป็นทางเลือกกรณีต้องส่งต่อรักษา

หากโรงพยาบาลในระบบไม่มีเตียงรองรับหรือรอคิวนาน โดยครอบคลุมไปถึงการรับ-ส่งต่อ ทั้งกรณีบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จากเดิมที่จำกัดเฉพาะรับ-ส่งต่อเฉพาะผู้ป่วยในเท่านั้น และยังพร้อมรับ-ส่งต่อการบริการโรคเฉพาะด้าน เช่น ผู้ป่วยสวนหัวใจ เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเส้นฟอกไต เป็นต้น จากความร่วมมือดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ‘เอกชน’ มีส่วนสำคัญในการเติมเต็มการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขในปัจจุบันอย่างชัดเจน

“เอกชน-ท้องถิ่น-เทคโนโลยี” 3 ตัวแปรท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านระบบบัตรทอง (1)

อีกหนึ่งความท้าทายของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่ “ท้องถิ่น” ก็คือ การกระจายอำนาจด้วยการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวนกว่า 3,000 แห่ง ให้ไปขึ้นกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปีงบประมาณ 2566 หลังจากที่เคยถ่ายโอนให้กับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ ระดับ อบจ. ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566