“ออฟฟิศซินโดรม” ชนวนเหตุ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม

08 ต.ค. 2566 | 02:44 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2566 | 02:51 น.

“ออฟฟิศซินโดรม” ชนวนเหตุ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม : Tricks for Life

เป็นที่รู้กันว่า การนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ ในท่าเดิมๆ จนเกิดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือปวดร้าวไปถึงศีรษะ ปวดชาแขนขา จะส่งผลให้เป็น “โรคออฟฟิศซินโดรม” แต่เชื่อว่า พนักงานจำนวนมาก หลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เท่านั้นหากปล่อยอาการเหล่านี้ให้ยืดเยื้อยาวนานออกไปจนทำให้เกิดเซลล์อักเสบ และร่างกายดึงแคลเซียม เนื้อเยื่อ หรือพังผืดมาเกาะจนทำให้เกิดกระดูกงอก จนเป็นชนวนเหตุให้เป็น “โรคกระดูกสันหลังเสื่อม”

“ออฟฟิศซินโดรม” ชนวนเหตุ โรคกระดูกสันหลังเสื่อม

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า กลุ่มวัยทำงานป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะเป็นเวลานานๆ และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556-2560 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ประมาณ 30.8 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15 ขึ้นไป) ที่ใช้คอมพิวเตอร์ จำนวนถึง 28.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 91.3 ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มที่ส่งผลให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้สูงขึ้น

วันนี้ “ออฟฟิศซินโดรม” จึงเป็นโรคยอดนิยมของหนุ่มสาวออฟฟิศ เพราะการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ อาจทำให้หลายคนเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดตา และรู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่โรคออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่อาจอันตรายจนก่อให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้

การแก้ปัญหา จึงต้องมุ่งไปที่การจัดโต๊ะทำงานให้ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี เช่น เก้าอี้ทำงานต้องมีพนักพิงหลังและพนักแขน เมื่อแผ่นหลังของเราชิดพนักพิงหลังจะไม่งอ ส่วนพนักแขนก็สำคัญ เพราะการวางแขนที่พนักจะช่วยรองรับน้ำหนักแขนได้ ความสูงของเก้าอี้ก็ต้องรองรับสรีระไม่ให้เข่างอระดับ 90 องศา ในส่วนของโต๊ะทำงานที่ดีต้องปรับระดับสูงต่ำได้ คอมพิวเตอร์ต้องตั้งตรง ไม่ให้เราก้มหรือเงยมากเกินไป

การรักษา “ออฟฟิศซินโดรม” บางคนรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดก็หาย แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้าสู่ภาวะการผ่าตัดเพราะกว่าจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้ปวดหลังธรรมดา แต่กลับเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทก็สายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้นการสังเกตตัวเองและเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุดจะทำให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ไม่ต้องคิดไปเองว่านี่คืออาการปวดหลังธรรมดาที่เกิดจากกล้ามเนื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังหรือไม่

“อาการปวดหลัง” จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการปวดอาจมีหลายสาเหตุ ควรเริ่มป้องกันและค้นหาสาเหตุ คือสิ่งที่ดีที่สุด และหากมีอาการแล้วก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานจนเรื้อรัง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายแรงได้

ขอบคุณ : โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,927 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566