“RSV” ไวรัส วายร้ายของ “ลูกน้อย”

10 ก.ย. 2566 | 07:56 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2566 | 08:00 น.

“RSV” ไวรัส วายร้ายของ “ลูกน้อย” : Tricks for Life

“RSV” หรือ Respiratory Syncytial Virus กลายเชื้อไวรัส ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังอีกครั้ง เมื่อพบการแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงนี้ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง สามารถแพร่ระบาดและก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็กโดยเฉพาะในช่วงวัยสองปีแรก

โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคในปี 2565 พบว่า มีการติดเชื้อไวรัส RSV ในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี สูงเกินกว่า 80% แบ่งเป็น กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มากถึง 52% และกลุ่มเด็กอายุ 3-5 ปี หรือวัยอนุบาล อีกราว 34%

อาการเมื่อได้รับเชื้อ RSV จะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ต่ำ ไอ หรือคัดจมูก แต่ถ้าเกิดในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์) หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

“RSV” ไวรัส วายร้ายของ “ลูกน้อย”

ไม่เพียงเท่านั้น RSV ยังส่งผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว เพราะเด็กที่เคยป่วยจากการติดเชื้อไวรัส RSV จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในระบบทางเดินหายใจ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดลมไวหรืออาการคล้ายโรคหืด และมีโอกาสพบการหอบซ้ำได้ในช่วง 1 ปีแรกมากกว่าปกติ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคปอดเรื้อรังในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

“ปีนี้พบสถานการณ์การระบาดของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV ในเด็กสูงขึ้นมากและพบอาการรุนแรงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV ในเด็กที่ผ่านการรับรองในประเทศไทย ดังนั้นการป้องกันและดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิดจึงจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ และ ทารกเกิดก่อนกำหนด รวมถึงสมาชิกในครอบครัวเองก็ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเป็นผู้นำเชื้อมาสู่เด็กเล็กได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กทารกซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว”

“RSV” ไวรัส วายร้ายของ “ลูกน้อย”

รศ. พญ. หฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังบอกอีกว่า ไวรัส RSV สามารถติดต่อผ่านฝอยละอองของสารคัดหลั่ง (droplet) ไม่ว่าจะเป็นการไอจามใส่กันโดยตรง หรือใช้มือที่สัมผัสเชื้อมาจับจมูก ปาก และเยื่อบุตา จึงสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ที่เด็กเล็กรวมตัวกัน เช่น ศูนย์เด็กเล็ก สนามเด็กเล่นในร่ม หรือสระว่ายน้ำ

เพราะอาการเบื้องต้นของ RSV มีความคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป วิธีการสังเกตอาการของ RSV จึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มด้วย เพราะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ RSV มักรุนแรงที่สุดในวันที่ 3-4 นับจากวันที่เริ่มมีอาการ มักพบอาการหายใจแรง หายใจลำบาก มีเสียงครืดคราดในลำคอหรือทรวงอกอย่างชัดเจน มีเสมหะจำนวนมาก เริ่มเหนื่อยซึมและกระสับกระส่าย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลโดยทันที เพราะหากไม่รีบเข้ารับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะรุนแรงจนต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจหรือรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ได้

ดังนั้น วิธีป้องกันที่สามารถทำได้เองคือการรักษาสุขอนามัย ปลูกฝังให้เด็กหมั่นล้างมือด้วยสบู่และไม่เอามือจับหน้า พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลระบาด หากเริ่มมีอาการป่วยควรให้เด็กพักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ออกไปอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เป็นต้น

 “ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาไวรัสชนิดนี้แบบเฉพาะทาง และเด็กที่เคยติดเชื้อไวรัส RSV มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทำให้เด็กเล็กยังคงมีความเสี่ยง”

ขอบคุณข้อมูล : แอสตร้าเซนเนก้า

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,921 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2566