แน่นหน้าอก ขาบวม เสี่ยง “ภาวะหัวใจโต”

21 เม.ย. 2567 | 04:00 น.

แน่นหน้าอก ขาบวม เสี่ยง “ภาวะหัวใจโต” : Tricks for Life

ภาวะหัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ โดยทั่วไปหัวใจของผู้ใหญ่มีขนาดประมาณกำปั้น แต่ในภาวะหัวใจโต หัวใจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ

สาเหตุของภาวะนี้อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หัวใจห้องล่างฝั่งซ้ายโตขึ้น  ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ  กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  หัวใจวาย ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้น  โรคลิ้นหัวใจรั่ว  โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นต้น

อาการของภาวะหัวใจโต

ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อรุนแรงขึ้นอาจมีอาการดังนี้  หายใจลำบาก หายใจไม่ออก เหนื่อยง่ายขึ้น ไม่มีแรง เพราะร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอ  ปวดแน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้  อาจต้องนอนตะแคงหรือนั่งหนุนหมอน ขาบวม

แน่นหน้าอก ขาบวม เสี่ยง “ภาวะหัวใจโต”

การวินิจฉัยภาวะหัวใจโต

การตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ เช่น ฟังเสียงหัวใจ ตรวจหาเสียงผิดปกติจากหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

1. การตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก จะเห็นหัวใจมีขนาดใหญ่ผิดปกติ

2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูรูปแบบการเต้นของหัวใจ

3. การตรวจภาพสะท้อนเสียงหัวใจ (Echo) ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการสร้างภาพหัวใจ สามารถดูขนาด รูปร่าง การทำงานของหัวใจได้

4. การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพทางการแพทย์อื่นๆ เช่น CT Scan, MRI เพื่อดูลักษณะของหัวใจอย่างละเอียด

5. การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization)  เพื่อฉีดสีดูว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ รวมถึงวัดความดันในหัวใจห้องต่าง ๆ ได้  โดยการสอดสายสวนเส้นเล็กๆ เข้าไปในหลอดเลือดแดง

การรักษาภาวะหัวใจโต

  • การรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดแรงดันภายในหัวใจ และลดอาการบวม
  • การผ่าตัดหรือการรักษาผ่านทางสายสวนหัวใจ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการใส่ขดลวด
  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การออกกำลังกายอย่างพอดี การควบคุมน้ำหนัก การงดสูบบุหรี่

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระยะ และความรุนแรงของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ชะลอการเสื่อมของหัวใจ และฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวเฉียว พร้อมดูแลด้านหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอย่างครบวงจรพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยมีคณะแพทย์ของศูนย์หัวใจและหลอดเลือด  ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจสาขาต่างๆ เช่น อายุรแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์สาขามัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือด  อายุรแพทย์สาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ ศัลยแพทย์หัวใจ เป็นต้น