‘หัวใจเต้นช้า’ อันตราย อย่ามองข้าม

24 พ.ค. 2567 | 09:30 น.

‘หัวใจเต้นช้า’ อันตราย อย่ามองข้าม : Tricks for Life

“โรคหัวใจ” สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงโรคหัวใจเต้นช้า ซึ่งหลายคนมักมองข้าม แต่แท้จริงแล้ว เป็นภาวะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน

หัวใจเต้นช้า (Bradycardia) เป็นภาวะที่หัวใจเต้นในอัตราช้ากว่าปกติ โดยมักจะน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที เมื่อหัวใจเต้นช้าเกินไป ย่อมส่งผลให้เลือดที่ส่งออกจากหัวใจมีปริมาณลดลง จนทำให้การส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญอย่างสมองและหัวใจ โดยทั่วไปมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่หากเกิดในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติ

อาการผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นช้า ประกอบไปด้วย เหนื่อยง่าย, เจ็บหน้าอก, เพลีย, ใจสั่น, วิงเวียนศีรษะ, เป็นลมหมดสติ และ สับสน หลงลืมง่าย เสียสมาธิง่าย

ภาวะหัวใจเต้นช้ามักพบในผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี แต่อาจจะพบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยหากมีโรคร่วมหรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความสมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ, การติดเชื้อโรคหรือการอักเสบบางอย่าง, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคหัวใจรูมาติก, การเสื่อมของกลุ่มเซลล์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ (sick sinus syndrome), การนำกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ, และภาวะแทรกซ้อนจากยา การผ่าตัด หรือการฉายรังสี

‘หัวใจเต้นช้า’ อันตราย อย่ามองข้าม

การตรวจหาสาเหตุต้องมีความชัดเจนและแน่ชัด เนื่องจากหากทราบว่าภาวะหัวใจเต้นช้าเกิดจากสาเหตุที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ย่อมทำให้ภาวะหัวใจเต้นช้าหายไปได้เช่นกัน โดยแนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นช้า แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และตรวจเลือดต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุในการเกิดหัวใจเต้นช้า อีกทั้งยังอาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ทางระบบหัวใจ ซึ่งขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยด้วย

หากพบว่าภาวะหัวใจเต้นช้าเกิดจากโรคหรือภาวะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโรคหรือภาวะดังกล่าว ซึ่งจะทำให้หัวใจกลับมาเต้นในอัตราปกติได้ แต่หากภาวะหัวใจเต้นช้าเกิดจากโรคหรือภาวะที่ไม่สามารถรักษาได้ หรือไม่สามารถรักษาให้หายขาด จะมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker Implantation) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการของผู้ป่วยหรือลดโอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงต่อไป

การปฏิบัติตัวหลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วัน และในช่วง 7 วันแรกไม่ควรยกแขนด้านที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจขึ้นสูงเหนือไหล่, หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก, หลีกเลี่ยงการถู กด หรือเกาบริเวณแผล, หลีกเลี่ยงการนวดหน้าอก,ห้ามยกของหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ในระหว่างพักฟื้นหากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม เหนื่อยหอบผิดปกติ สะอึกตลอดเวลา ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและตรวจสอบการทำงานของเครื่องและควรมาพบแพทย์ตามนัด เพราะจะได้รับการตรวจเช็คเครื่องอย่างสม่ำเสมอ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,995 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567