เจาะฐานผู้ป่วยกัมพูชา สู่นโยบาย Medical Tourism ของไทย

21 มิ.ย. 2567 | 22:02 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเรื่องการพัฒนาตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism ซึ่งถ้าเราจะมองโครงสร้างของระบบสุขภาพของไทยนับว่ามีความพร้อมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาที่สามารถผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น พยาบาล หรือสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาล หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตสูง ไม่ใช่เพียงเฉพาะไทยแต่หลายประเทศก็พยายามผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ให้เติบโตเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น และถึงแม้สิงคโปร์ จะมีระบบสุขภาพที่ดีอันดับต้นของโลกและถือเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

เจาะฐานผู้ป่วยกัมพูชา สู่นโยบาย Medical Tourism ของไทย

แต่ประเทศที่มีค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพโดยเปรียบเทียบถูกกว่าในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ก็คือประเทศไทยขณะเดียวกันไทยมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล JCI จำนวนมาก ล้วนเป็นปัจจัยความแข็งแกร่งในด้านการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้เป็นอย่างดี

หากพูดถึงระบบสุขภาพและรักษาพยาบาลในประเทศกัมพูชา ตามแผนเดิมนั้นกัมพูชามีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage หรือ UHC) ภายในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ.2568) และในช่วงที่ผ่านมากัมพูชารับงบประมาณสนับสนุนด้านสาธารณสุขจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูง

แม้จะมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลของไทยหลายแห่งมีการตั้งสำนักงานที่กัมพูชา และด้วยบริบทของระบบการแพทย์ของกัมพูชา ที่ถึงแม้จะมีระบบบริการสุขภาพภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ แต่สัดส่วนจำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่อประชากรโดยเปรียบเทียบก็ยังถือว่าถือว่าไม่เพียงพอ

ทั้งนี้เมื่อปลายปี 66 ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาเปิดโรงพยาบาลแห่งชาติของกัมพูชา โรงพยาบาลแห่งชาติเตโช สันติเพียบ (Techo Santepheap National Hospital) เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชา มีจำนวนเตียงเกือบ 10,000 เตียง ตั้งอยู่ในเขตทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในความพยายามลงทุนด้านสาธารณสุขของประเทศ

เจาะฐานผู้ป่วยกัมพูชา สู่นโยบาย Medical Tourism ของไทย

แต่ถึงกระนั้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อของกัมพูชา มักเลือกรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น ซึ่งระยะทางการบินจากกัมพูชามาไทยเพียงหนึ่งชั่วโมงและค่าตั๋วเครืองบิน ที่ไม่แพงมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รับบริการชาวกัมพูชา จะเป็นลักษณะ Selfpay เป็นหลัก

ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ จึงเป็นตัวกระตุ้นให้การพัฒนาระบบสาธารณสุขในแถบประเทศเพื่อนบ้านต่อเนื่อง พร้อมกับความท้าทายจากนโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ Medical Hub ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของบุคลากรจากภาครัฐไปยังภาคเอกชนร่วมด้วย ไทยจึงควรต้องเตรียมความพร้อม ทั้งในเชิงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาของการให้บริการด้านสาธารณสุขในประเทศ

เจาะฐานผู้ป่วยกัมพูชา สู่นโยบาย Medical Tourism ของไทย

ขณะเดียวกันยังต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านการแพทย์ด้วยการเร่งพัฒนาคุณภาพและการให้บริการทางด้านการแพทย์ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับและดูแลผู้รับบริการชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลและรองรับคนไทยในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลด้วย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,002 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2567