5 วิธีการจัดการ “สุขภาพจิต-โรคซึมเศร้า” ในที่ทำงาน

17 พ.ย. 2567 | 22:31 น.

5 วิธีการจัดการ “สุขภาพจิต-โรคซึมเศร้า” ในที่ทำงาน : Tricks for Life

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชากรในประเทศไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการสุขภาพจิตในที่ทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มักพบปัญหาความเครียดจากการทำงาน การต่อสู้กับความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH  กล่าวว่า ข้อมูลของ BMHH พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการสูงที่สุดของโรงพยาบาลคือวัยทำงานอายุ 25-40 ปี

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์

โดย 5 โรคที่พบมากที่สุดในวัยนี้ ได้แก่ 1.โรคซึมเศร้า 2.โรควิตกกังวล 3.ภาวะเครียดสะสม 4.โรคแพนิค และ 5.โรคไบโพลาร์ เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีงานเครียดสูง หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแรงกดดันสูง ทั้งจากความคาดหวังในงานและความยากลำบากในการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน การใส่ใจสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่ใช่ทางเลือก

แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้สุขภาพจิตเป็นวาระสำคัญขององค์กรและสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ให้คุณค่ากับสุขภาพกายและใจอย่างสมดุลส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป การดูแลสุขภาพจิตคือความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ไม่ได้เพียงสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น แต่กำลังสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน สุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง”

โรคซึมเศร้าภัยเงียบในที่ทำงาน

ไม่ใช่แค่เรื่องของอารมณ์ที่แปรปรวน แต่เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่เผชิญอยู่ การมีความเครียดสะสมจากการทำงาน หรือสภาพแวดล้อมที่กดดันสามารถกระตุ้นหรือทำให้โรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

5 วิธีการจัดการ “สุขภาพจิต-โรคซึมเศร้า” ในที่ทำงาน

ในหลายกรณี ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในที่ทำงานมักไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าตนเองต้องแสดงออกถึงความเข้มแข็ง และไม่อยากให้คนอื่นเห็นความอ่อนแอ แต่ความเครียดที่สะสมจากการทำงานหนัก ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต และปัญหาภายในองค์กรสามารถผลักดันให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

ผลกระทบจากโรคซึมเศร้าในที่ทำงาน

อาการของโรคซึมเศร้าสามารถส่งผลกระทบทั้งในด้านการทำงานและความสัมพันธ์ภายในที่ทำงานได้อย่างลึกซึ้ง โดยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย ขาดสมาธิ และมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งทำให้การตัดสินใจหรือการทำงานเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความขัดแย้งในทีมอาการซึมเศร้าอาจทำให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยวหรือหงุดหงิดได้ง่าย จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในทีม และทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่ดี พนักงานที่มีอาการซึมเศร้าอาจขาดงานบ่อย หรือมีปัญหาในการทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา

วิธีการจัดการสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้าในที่ทำงาน

1. สร้างพื้นที่ให้พนักงานสามารถเปิดใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต พนักงานควรรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการทางจิตเวชโดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน หรือผลกระทบต่อหน้าที่การงาน

2. ให้การสนับสนุนด้านจิตวิทยา องค์กรสามารถจัดให้มีบริการคำปรึกษาจิตวิทยาภายในองค์กร หรือส่งพนักงานที่มีอาการซึมเศร้าไปหาผู้เชี่ยวชาญ

3. ส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น การจัดการกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือการกำหนดเวลาทำงานที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน จะช่วยลดความเครียดและบรรเทาความวิตกกังวลที่เกิดจากงาน

4. ส่งเสริมการออกกำลังกายและกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย การให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น โครงการโยคะในที่ทำงาน การเดินเล่น หรือกิจกรรมสันทนาการสามารถช่วยลดระดับความเครียดได้

5. อบรมและให้ความรู้แก่ผู้บริหารและหัวหน้างาน การอบรมให้หัวหน้างานและผู้บริหารเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและสัญญาณต่างๆ จะช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่กำลังกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้ในที่ทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะในปี 2567 ที่สถิติโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การดูแลสุขภาพจิตของพนักงานและการจัดการกับโรคซึมเศร้าในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่องค์กรไม่สามารถมองข้ามได้ หากองค์กรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและมีการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต พนักงานก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และองค์กรก็จะเติบโตไปอย่างยั่งยืน