หลายคนเลือกวางแผนชีวิต ทำสิ่งใหม่ๆ ต้อนรับปีใหม่ โดยเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง ออกกำลังกาย หรือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามคือการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความมั่นใจในสุขภาพที่ดี
การตรวจสุขภาพประจำปี คือการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ที่ช่วยให้รู้ทันสภาพร่างกายของตัวเอง ซึ่งถ้าตรวจพบความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็จะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงกว่าการตรวจพบในระยะร้ายแรง รวมถึงค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าในระยะลุกลาม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำยิ่งขึ้น
การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถตรวจได้ทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุการ ซึ่งนอกจากควรเลือกโปรแกรมตรวจที่เหมาะสมตามช่วงอายุแล้ว ยังต้องพิจารณาจากความเสี่ยงส่วนตัวร่วมด้วย เช่นอายุ เพศ พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงประวัติครอบครัว
โดยสามารถแบ่งการตรวจสุขภาพประจำปีได้ ดังนี้
วัยเด็ก : เป็นการตรวจร่างกายเพื่อดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการเป็นหลัก ซึ่งจะประเมินโดยกุมารแพทย์ และยังรวมไปถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ
วัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ : อายุตั้งแต่ 18-50 ปี เป็นการตรวจสภาพร่างกายพื้นฐานโดยรวม ประกอบด้วย การวัดความดันโลหิต, การวัดชีพจร, การวัดอัตราการหายใจ, วัดส่วนสูง, ชั่งน้ำหนัก, การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ตรวจวัดระดับน้ำตาล ระดับไขมัน การทำงานของตับ ไต, ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง, การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป : ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพหัวใจจากการวิ่งสายพาน และการอัลตราซาวนด์หัวใจ มีความสำคัญมากและอาจต้องตรวจก่อนอายุ 50 ปี ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวและมีญาติเป็นโรคหัวใจ, การประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมอง, การตรวจความหนาแน่นกระดูก เพื่อคัดกรองภาวะกระดูกพรุน และ การตรวจสภาพสายตา
สำหรับเพศหญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเอกซเรย์เต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง เพื่อเป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรละเลย เพื่อให้ได้ผลการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด โดย มี 7 สิ่งที่ควรรู้ได้แก่
ผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตของเรามีค่าสูงกว่าปกติ ดังนั้น ควรนอนไม่น้อยกว่า 7- 8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะนอกจากร่างกายจะสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยให้ระบบต่างๆของร่างกายทำงานได้เป็นอย่างดีแล้ว การนอนหลับอย่างเพียงพอยังช่วยให้รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นขึ้นมาอีกด้วย
สุภาพสตรีไม่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพในช่วงระหว่างก่อนมีประจำเดือนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน เนื่องจากอาจส่งผลต่อผลปัสสาวะได้ ดังนั้นหากกำลังมีประจำเดือนขณะการตรวจก็ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลทราบก่อน หรือหลีกเลี่ยงการตรวจสุขภาพในช่วงนั้น
การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการตรวจสุขภาพข้อต่อมา คือ การสวมใส่เสื้อผ้าที่สะดวกต่อการตรวจร่างกาย เนื่องจากอาจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเข้า-ออกก่อนการได้รับเอกซเรย์ และที่สำคัญสุภาพสตรีควรหลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก และงดใส่เครื่องประดับทุกประเภทที่เป็นโลหะ
ก่อนการเข้าตรวจสุขภาพควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานและรับประทานของหวานจัด เพราะอาจส่งผลให้มีปริมาณในน้ำตาลปนในปัสสาวะค่อนข้างสูงกว่าปกติ
งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชม.
งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลแก่การตรวจปัสสาวะ แต่ถ้าหากลืมงดก็ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลทราบก่อนการตรวจสุขภาพในครั้งนั้น
การตรวจสุขภาพไม่ใช่เพียงแค่การดูแลตัวเองในช่วงสั้น ๆ เพราะสุขภาพที่ดีของคุณจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว มาเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความมั่นใจผ่านการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณ เพื่อให้ทุกเป้าหมายในปีใหม่ของคุณเป็นไปได้ด้วยพลังจากร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่สมบูรณ์
ขอบคุณ : ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวชธานี