หากจะถามว่า คนเราเป็นทุกข์เพราะอะไร ในมุมของจิตวิทยา และปรัชญาต่างก็มีความเชื่อว่าเกิดจาก ความคิดและความรู้สึก เพราะทั้งสองส่วนนี้เป็นตัวรับรู้สิ่งต่างๆทั้งภายนอกและภายใน คำว่า ภายนอก ก็คือสิ่งที่เข้ามากระทบเราโดยผ่านทางตาหูจมูก กายและการสัมผัสต่างๆ ส่วนความรู้สึกภายใน ก็เกิดขึ้น จัดการคิด จัดการรู้สึก ออกมาจากจิตใต้สำนึก 2 ทางนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์
ดังนั้นวิธีที่จะทำให้ความทุกข์เราน้อยลงเราก็ต้องปิดประตูแห่งความรู้สึกคำว่าปิดประตูแห่งความรู้สึก คือพยายามไม่ให้ความคิดมันทำงานไปในเชิงลบ เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบจากภายนอก และหรือเรารู้สึกไปเองและคิดเองด้วยความรู้สึกภายใน
การปิดประตูความรู้สึกนี้ มีวิธีในการฝึกฝน ด้วยการให้ความคิด ความรู้สึก เกิดขึ้นแต่ในส่วนดี หรือพูดง่ายๆคิดดีคิดแต่สิ่งที่สร้างสรรค์สิ่งไหนไม่สร้างสรรค์หรือเริ่มเป็นความรู้สึกไม่ดีต้องหยุดคิดทันที
ยิ่งถ้าเราได้มีโอกาสฝึกฝนจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือที่ภาษาธรรมะเรียกว่าเป็นคนมีสมาธิหรือฝึกภาวนาสมาธิก็ได้ การจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นการตัดความคิดความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปเพราะจิตใจเราจะอยู่กับปัจจุบันขณะล้วนๆ
บางครั้งการไปนั่งหลังขดหลังแข็ง ฝึกสมาธิแบบฤาษี ที่เข้าฌาน มากเกินไปก็ไม่ใช่หนทางของพุทธศาสนา หนทางที่ถูกต้อง และเป็นทางสายกลาง คือการลืมตาอยู่กับปัจจุบันขณะที่เคลื่อนไหว ด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 จิตจะเริ่มตื่นรู้ ทั้งด้านความคิดความรู้สึกมากขึ้น และความทุกข์จะน้อยลง
แต่อย่างไรเสียก็ควรมีพื้นฐานการฝึกสมาธิภาวนา มาบ้านอยู่ในขั้นของขณิกะสมาธิก็เพียงพอต่อการที่จะนำเอาสมาธินั้นมาจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ
ความคิดใดที่เป็นลบความรู้สึกใดที่เป็นลบ ไม่ควรให้เกิดขึ้น ถ้าเราหมั่นฝึกแบบนี้ได้ชีวิตเราจะมีความสุขโดยที่แท้จริงตลอดไป