มรรคมีองค์แปด คือ ทางสายกลางของผู้ปรารถนาในธรรมอันยิ่งเพื่อการก้าวข้ามของจิตใจจากเดิมไปสู่โลกุตตรธรรมด้วยจิตใจใหม่ หลุดพ้นซึ่งกิเลสทั้งปวง
ในกระบวนการทางความคิดของผู้ศึกษาพุทธศาสนา แบบเถรวาท ไทยๆ ต่างมีความเชื่อว่า การที่จะเข้าถึงธรรมอันยิ่งแบบนั้น จะต้องเกิดจากการสั่งสมบารมี สั่งสมความเพียรในการภาวนามาหลายภพชาติ จึงจะสามารถสำเร็จได้ และที่สำคัญ ในปัจจุบันชาติจะต้องดำรงตนอยู่ในทางสายกลางมรรคมีองค์แปด
แต่ในทางกลับกัน ทั้งที่เป็นพุทธศาสนาเหมือนกัน แบบมหายานนั้น ต่างมีความเชื่อ ในทางความคิดว่า เราทุกคนมีจิตที่เป็นพุทธะอยู่ในใจอยู่แล้ว เพียงแค่เรา พร้อมในการปฏิบัติตนเพื่อให้ความเป็นพุทธะในใจปรากฏขึ้นเราก็สามารถเข้าถึงสภาวะหลุดพ้นจากกิเลสได้
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แท้ที่จริง สำหรับคนใช้ชีวิตทั่วไป ที่มิได้พึงหวังจะหลุดพ้น แต่อยากมีชีวิตที่มีความสุข ใช้ชีวิตอย่างปกติ ต้องดำรงตนด้วยทางสายกลาง เหมือนที่นักบวชทั้งหลายพึงปฏิบัติหรือไม่
เมื่อตั้งคำถามแบบนี้ ถามนักบวช หลายๆ สำนักเราก็ย่อมจะได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นของเถรวาทหรือมหายาน
ส่วนตัวเชื่อเหลือเกินว่า เราทุกคน ต้องมีทางสายกลางของตัวเองและเป็นทางสายกลางที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่เบียดเบียนตนเองในการใช้ชีวิตแต่ละวัน
นั่นจึงเป็นทางสายกลางอย่างแท้จริงสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวช แต่ถ้าเราไปยึดทางสายกลาง แบบนักบวช เราก็อาจจะ ไม่เข้าใจในการใช้ชีวิตปกติแบบธรรมดา และพลอยจะมีความคิดไปว่า เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่บนทางสายกลางได้จริงๆ
เพราะทางสายกลางของเรา เราย่อมจะทราบได้ด้วยตนเองว่า จุดตรงไหน คือทางสายกลางของชีวิต ตลอดทั้ง เมื่อไหร่ที่ไม่ใช่ทางสายกลางของชีวิต
ถ้าจะพูดว่าทางสายกลางของชีวิตนั้น อาจเป็นปัจเจกของใครของคนนั้นซึ่งย่อมมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่อย่างไรเสีย สิ่งที่ต้องตรงและเหมือนกันคือ เป็นการใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งสุดโต่ง และไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่หย่อนยาน ตามหลักจริยธรรม คุณธรรม นั่นแหละจึงเรียกว่าทางสายกลางของชีวิตเรา
แต่เมื่อใดที่เราต้องการ การหลุดพ้น เพื่อก้าวไปสู่โลกุตรธรรมแน่นอน เราจะต้องปฏิบัติ ตามทางสายกลางมรรคมีองค์แปด เหมือนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัญญัติไว้
ดังนั้นทางสายกลางเพื่อความสุขแบบมนุษย์นั้นอย่างหนึ่ง ทางสายกลางแบบนักบวชเพื่อหลุดพ้นก็อย่างหนึ่งด้วยเหตุนี้เอง