วันก่อนได้มีโอกาสโทรศัพท์คุยกับเพื่อนร่วมรุ่นท่านหนึ่ง ถึงชีวิตคนเราเมื่อเข้าสู่ชีวิตผู้สูงวัย บางคนไม่ระมัดระวังสุขภาพของตนเอง อยู่มาไม่นานก็มักจะได้ข่าวว่าไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้เสียแล้ว
เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันหลายๆ คน ก็มักจะมีปัญหาเช่นนี้แล้วก็จากไป สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่คนรุ่นหลังเสมอ หรือบางคนก็ประสบกับปัญหาสุขภาพร่างกาย ถึงกับปากเบี้ยวมือหงิกก็มี บางคนที่แย่ๆ หน่อย หรือบุญบารมีที่สั่งสมมา มีไม่เพียงพอต่อความเห็นใจของพระผู้เป็นเจ้า ก็นอนติดเตียงไปเลยก็มีครับ
ดังนั้นทางที่ดีที่สุด เมื่อตนเองยังสามารถเดินเหินได้คล่องแคล่วว่องไวอยู่ เราก็ควรต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้ให้ดี ด้วยการเสาะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตมากมาย หรือยังมีเพื่อนๆ ในกลุ่มไลน์ที่ชื่นชอบส่งไลน์ ส่งบทความเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่างๆ มาให้อ่าน
ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนบางคนก็ไม่ชอบอ่าน ก็เปิดผ่านๆ ไปก็มี แต่อยากจะบอกว่า ก็อ่านๆ บ้างก็จะดีนะครับ เพราะอย่างน้อยก็ได้ความรู้ไม่มากก็น้อยครับ
ส่วนคนที่ไม่ค่อยได้เล่นไลน์ ก็ควรจะต้องปรับความคิดของตนเองให้ดี ควรจะมองโลกให้เป็นแง่บวกไว้เสมอ อย่ามองโลกในแง่ร้าย เพื่อเป็นการไม่ไปทำลายความรู้สึกของตนเอง ถามว่าทำยากมั้ย ถ้าจะมองว่ายากก็ยาก
แต่ถ้าตนเองให้ความสนใจที่จะปรับทัศนคติและความคิดของตนเอง ผมก็คิดว่าน่าจะสามารถทำได้ไม่ยากครับ คำสอนต่างๆ ของพุทธศาสนา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้ และมองโลกในแง่บวกได้ครับ สำคัญอยู่ที่จิตใจของตนเองครับ
นอกจากความคิดในด้านบวกแล้ว สิ่งที่จะต้องกระทำต่อเนื่องอีกอย่างหนึ่งคือ “อารมณ์” ของตนเองครับ ผมเคยใช้พื้นที่ของคอลัมน์นี้ พูดถึงอารมณ์มาหลายครั้ง เป็นเพราะว่าอารมณ์ของคนเรานั้น มักจะเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายต่างๆ ที่จะตามมาอีกมากมายหลายโรค
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเจ้าประจำของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม โรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือแม้แต่โรคมะเร็งร้าย ที่มักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากโรคอื่นๆ เสมอ ในขณะที่อารมณ์ที่ฉุนเฉียว จะส่งผลต่อความสุขของตัวเราเองเสมอ แน่นอนว่าอายุยิ่งมาก การปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้สู่สภาวะปกตินั้น ยากกว่าคนอายุน้อย เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ความเป็นตัวกูของกูจะยิ่งสูง
ดังนั้นการที่ปรับอารมณ์จึงยากกว่าเสมอ ตัวผมเองก็พยายามที่จะไม่โกรธใครง่ายๆ ยิ่งโกรธยิ่งทำให้ต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะเข้าที่เข้าทางได้ครับ
นอกจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นดูแลร่างกายของตนเอง ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงไว้เสมอ การตรวจร่างกายประจำปี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งครับ อย่าได้หาข้ออ้างต่างๆ นานา ที่จะไม่ไปโรงพยาบาลตรวจเช็คร่างกาย
ซึ่งคนใกล้ชิดผมหลายคนก็มีความคิดเช่นนี้อยู่ เพราะกลัวว่าถ้ารู้ว่าตนเองมีโรคประจำตัวแล้ว จะทำให้จิตใจเสียศูนย์ จึงกลัวมากที่จะไปตรวจเช็คร่างกาย แต่เพื่อนๆ เหล่านั้น มักจะมีชีวิตไม่ยืนยาว บางคนที่ยังมีชีวิตยืนยาวอยู่ ก็มักจะกระเสาะกระแสะเสมอ เพราะกว่าจะรู้ว่าตนเองเป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็นอันว่าเตรียมตัวที่จะเอวังละครับ
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ “อาหาร” ครับ เราอย่าได้ตามใจปากตนเองมากจนเกินไป เราควรรู้ว่าอะไรควรทานและอะไรทานแล้วเป็นพิษร้ายต่อร่างกาย หากเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของอาหาร ก็ต้องรู้จักเลือกนะครับ ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ ก็เอาละทานสักนิด เพื่อความอยู่รอด อย่าทานเพื่อความอร่อยและแก้ความอยากทานของตนเองเพียงอย่างเดียว ก็จะควบคุมได้ครับ
ผมมีเพื่อนรักคนหนึ่ง สมัยที่ยังหนุ่มแน่น ร่างกายกำยำแข็งแรง ทุกครั้งที่ซ้อมมวยกันที่โรงเรียนบนดอยแม่สะลองที่ผมเรียนอยู่ ผมมักจะตกเป็นกระสอบทรายให้เขาตลอด แต่พอเรียนจบจากบนดอยลงมา เขาก็เริ่มใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยมากๆ ทั้งเหล้าทั้งบุหรี่ไม่ห่างกายเลยครับ
เราห่างเหินกันมาหลายปีไม่ได้เจอหน้ากัน ได้ฟังแต่เพื่อนสนิทคุยให้ฟังว่าเพื่อนคนนั้นเป็นอย่างนี้ เพื่อนคนนี้เป็นอย่างนั้น แต่พอพูดถึงเพื่อนคนที่ผมกล่าวถึง เขาก็จะส่ายหัวกันทุกคน ต่างไม่กล้าไปพบ เพราะถ้าพบเจอเพื่อนเก่า เขาก็จะต้องชวนไปดื่มกินกันจนดึกจนดื่นเสมอ ทำให้ทุกคนเอือมระอากันไปตามๆ กัน แต่พออายุมากขึ้น
สุดท้ายก็ต้องทนทุกข์ทรมานกับสารพัดโรคที่รุมเร้าเข้ามาหาตัวครับ นี่คือการไม่ระมัดระวังสภาพร่างกายของตัวเองครับ อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตของคนเรา ล้วนแล้วแต่ต้องขีดเส้นทางด้วยตัวเราเองเสมอครับ
ในความคิดของผม พอเราอายุย่างก้าวเข้าสู่ผู้สูงวัย สิ่งที่ควรจะต้องระวังดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นตรวจตราตนเองไว้ก่อนเสมอครับ อย่าปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรมแล้วจึงมาหาหมอ ถึงเวลานั้นต่อให้เป็นหมอชีวกะ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยารักษาได้
พอร่างกายตนเองอมโรคไว้เยอะๆ คราวนี้ก็จะมานั่งนึกเสียใจภายหลังเสมอครับ รีบตั้งต้นดูแลร่างกายและปลุกชีวิตให้ตื่นจากฝันตั้งแต่วันนี้ แม้เราจะอายุมากแล้ว แต่ถ้าเรายังคงแข็งแรงอยู่ ก็ยังไม่สายครับ