ยินดีต้อนรับผู้เกษียณอายุน้องใหม่ในปีนี้

23 ก.ย. 2565 | 20:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

วันที่ 30 กันยายนนี้ เป็นวันสุดท้ายของชีวิตราชการ วันรุ่งขึ้นก็จะมีผู้เกษียณอายุรุ่นใหม่เข้ามาสู่วงการผู้สูงวัยอีกไม่น้อย แน่นอนว่าหลายท่านที่กำลังจะปลดเกษียณในช่วงนี้ คงต้องปรับตัวกันทุกท่าน บางท่านอาจจะมีการเตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้างแล้ว แต่บางท่านอาจจะยังไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน คงจะมีทั้งความปีติยินดีและความรู้สึกแปลกประหลาดใจบ้าง 


หลังตื่นขึ้นมาในวันแรกของการเกษียณอายุ ผมในฐานะที่อายุอานามเกินวัยเกษียณไปเยอะมากแล้ว จึงอยากขออนุญาตนำเอาประสบการณ์บางอย่าง มาเล่าสู่กันฟังนะครับ ก็อย่าได้ถือว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ อ่านเล่นสนุกๆ หรือคิดเป็นเรื่องไร้สาระก็ได้นะครับ

การที่จะเตรียมตัววางแผนก่อนล่วงหน้า เพื่อเป็นการปรับตัวในการใช้ชีวิตหลังเกษียณนั้น สิ่งแรกเลยคือต้องเตรียมใจไว้สำหรับสิ่งใหม่ๆ ที่ต้องเผชิญหลังจากนี้ไป แน่นอนว่าครอบครัวและคู่ครอง จะต้องสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ที่จะเกษียณอายุด้วย อย่าปล่อยให้เขาต้องต่อสู้แต่เพียงลำพัง เพราะจะเกิดความว้าเหว่ในจิตใจที่จะตามมา นั่นเป็นสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งเลยครับ
           

หลังเกษียณอายุแล้ว นอกจากสถานะของตัวเราในครอบครัว อาจจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราเป็นผู้หารายได้เข้าบ้าน แต่พอเราถอดหัวโขนแล้ว เราจะไม่ได้มีบทบาทตรงนั้นอีกต่อไป ซึ่งจุดนี้หากมีการสะกิดจุดด้อยที่เกิดขึ้นใหม่จากบุคคลภายในครอบครัว ที่บางครั้งอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หรือด้วยคำพูดหรือกริยาต่างๆ ของคนในครอบครัว อาจจะทำให้เกิดปมเล็กๆ เกิดขึ้น 

จนกระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นแผลใหญ่ ที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ครับ เพราะฉะนั้นสมาชิกในครอบครัว จะต้องช่วยกันเป็นกำลังใจ และต้องพยายามให้ผู้เกษียณอายุมีความรู้สึกว่า กำลังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เสมือนหนึ่งว่านักรบที่เป็นทหารผ่านศึกกลับสู่มาตุภูมิ ถ้าเป็นเช่นนี้จะทำให้เขามีความรู้สึกถึงความสำคัญของตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ 
       


ส่วนตัวของผู้เกษียณอายุเอง ต้องรู้ตัวว่า ตัวเราเองที่เคยมีบทบาทและหน้าที่ทางสังคม ซึ่งหน้าที่ในที่ทำงานเหล่านั้นได้หายไปแล้ว เราต้องปรับตัวกับบทบาทและหน้าที่ใหม่ ที่เป็นเพียงผู้เกษียณอายุ(ผู้สูงอายุ) ป้ายแดงเท่านั้น 


นั่นคือเป็นเพียงพ่อบ้าน-แม่บ้านในครอบครัว อย่าได้หลงผิดนำเอาหัวโขนที่ตนเองเคยมีอยู่ในอดีต เข้ามาใช้ในครอบครัวเป็นอันขาด เราคงต้องทำตัวให้กลมกลืนกับปัจจุบันให้มากที่สุด แล้วต้องเสาะแสวงหางานที่เราสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ 


ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน การเปลี่ยนหลอดไฟ หรือแม้แต่การเข้าครัวช่วยแม่บ้านด้วยการแสดงฝีมือปลายจวัก ที่เราอาจจะหลงลืมไม่ได้ทำมานาน เพื่อช่วยแบ่งเบางานของแม่บ้านบ้าง อีกทั้งอาจทำให้เราไม่ต้องรู้สึกเหงา หรือมีอะไรทำแม้จะไม่เป็นชิ้นเป็นอันก็ตาม แล้วเราจะได้ไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวครับ
       

ผมมีเพื่อนรักคนหนึ่ง เขาย้ายไปอยู่ที่ไต้หวันตั้งแต่เรียนมัธยมต้น พอเรียนจบก็ได้ทำงานเป็นครูผู้ปกครองที่ไต้หวัน ที่ตอนรับราชการอยู่ก็เรียกว่ามีหน้ามีตาพอสมควร จากอดีตเขาเคยผอมสะโอดสะองมาก แต่พอเกษียณอายุก็ไม่อยากจะขยับตัวเท่าไหร่แล้ว ร่างกายก็เริ่มอ้วนท้วนสมบูรณ์มาก 


มีอยู่วันหนึ่ง ภรรยาเขาโทรศัพพ์มาจากไทเป เพื่อพูดคุยกับผม เขาบอกผมว่า “เพื่อนคุณไม่ค่อยยอมลุกจากเก้าอี้เลย จะลุกขึ้นก็เฉพาะตอนทำอาหารให้หลานทาน กับเอาขยะไปทิ้งหน้าบ้านเท่านั้น” ผมก็ได้แต่หัวเราะชอบใจ บอกเขาว่า เอาที่สามีเขาสบายใจเถอะครับ
          


อีกเรื่องหนึ่งคือสภาพร่างกายที่หลังเกษียณอายุ เราจะต้องหันกลับมาดูร่างกายของตัวเองให้มากๆ กว่าเดิมอีกหลายเท่า เพราะเมื่อเกษียณอายุแล้ว นั่นหมายความว่าร่างกายของเราที่ใช้งานมา 60 ปี อาจจะมีความเสื่อมเกิดขึ้น เพราะเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ประมาทมิได้เลยครับ 


ควรจะต้องหมั่นออกกำลังกายบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องหักโหมนะครับ เพราะแข้งขาจะหักเอาง่ายๆ มีเพื่อนหลายคน ยังคงเล่นบาสเก็ตบอลหรือเตะฟุตบอลอยู่ ผมมักจะเตือนเขาว่า เราอายุมากแล้วนะ (ที่จริงอยากจะบอกว่าแก่แล้วนะ) ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ได้รักษาหายได้ง่ายๆ เหมือนตอนเราวัยรุ่นนะครับ อีกอย่างหนึ่ง การทรงตัวของเราจะไม่เหมือนตอนหนุ่มแน่นแน่นอน เผลอๆ หัวฟาดพื้นเอาได้ง่ายๆ นะครับ
            


เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูงานที่พัทยา และนอนค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน เช้าตื่นขึ้นมา ก็ไปเที่ยวบ้านพี่ที่เคารพท่านหนึ่ง ท่านชวนผมไปเดินชมสวนผลไม้ที่ปลูกไว้หลากหลายชนิด เดินไปคุยไป เราก็มัวแต่มองดูผลไม้บนต้นตลอดเวลา 

 

ปรากฏว่าเท้าไปสะดุดสายยางที่ใช้รดต้นไม้ หัวทิ่มไปด้านหน้า ผมต้องทิ้งตัวลงไป เพื่อไม่ให้ล้มหัวฟาดพื้น แต่ก็หัวเข่าถลอกเล็กน้อยครับ แม้จะไม่ได้บาดเจ็บมาก แต่ร่างกายก็ปวดเมื่อยไป 3-4 วันเลยครับ จะเห็นว่าการทรงตัวไม่เหมือนตอนเป็นหนุ่ม ที่เต้นแร้งเต้นกาได้ตลอดครับ
         

อีกเรื่องหนึ่งคือนิสัยการนอนดึกหรือการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทุกอย่างคงต้องงดได้แล้วนะครับ เหล้า-บุหรี่ ถ้างดได้หลังเกษียณก็จะดีที่สุดนะครับ เพราะนั่นเป็นการเสริมเอาสิ่งที่ไม่ควรให้มีในร่างกายเราเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น ในช่วงที่อยู่ในวัยทำงาน เราอาจจะมีข้ออ้างในการดื่มกิน แต่หลังจากเกษียณอายุแล้วข้ออ้างเหล่านั้น ไม่สามารถนำออกมาเป็นข้อแก้ตัวได้อีกแล้วนะครับ....ขอบอก!!!!
         

บางท่านที่ผมเคยเจอ พอเกษียณอายุก็จะมีความเหงาเกิดขึ้น บางท่านถึงกับหงอยเป็นไก่เหงาเลยครับ ผมแนะนำว่าท่านควรจะเข้าหาสังคมใหม่ๆ บ้าง เช่น สโมสรโรตารี หรือสโมสรไลอ้อนก็ได้ หรือเสาะหาสมาคมหรือชมรมอะไรก็ได้ ที่ท่านคิดว่าเหมาะสมกับท่าน สมัครเลยครับ 


กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการช่วยเหลือสังคมหรือจิตอาสาเหล่านั้น อาจจะทำให้ได้มีกิจกรรมทำให้คลายความเหงาได้ อีกทั้งยังได้บุญได้กุศลอีกด้วย บางสโมสรหรือบางสมาคม จำเป็นต้องมีสมาชิกแนะนำ จึงจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ ถ้าคิดไม่ออกก็ลองสืบถามเพื่อนๆ ดูก็ได้นะครับ 
       

สุดท้ายด้วยความปารถนาดี ผมคิดว่าท่านผู้เกษียณอายุน้องใหม่ จะต้องคิดคำนวณถึงทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันแล้วว่า มีเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อต้องวางแผนว่าจะจัดการอย่างไรกับทรัพย์ที่มีอยู่นั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ของท่าน 


ท่านอย่าได้นิ่งนอนใจ หรือคิดว่าตนเองไม่มีทรัพย์สินเลยนะครับ บ้างครั้งเราอาจจะลืมไปก็ได้ว่า เราเคยซุกเงินไว้ที่ไหนอย่างไร? แล้วค่อยคำนวณดูว่าเราจะต้องแบ่งทรัพย์นั้นออกเป็นส่วนๆ ให้ดี เช่น ส่วนแรกสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนที่ 2 สำหรับไว้รักษาตัวหรือตรวจร่างกายประจำปี 

 

ส่วนที่ 3 สำหรับการท่องเที่ยว ที่เราอยากจะทำในการสร้างความจรรโลงใจ ส่วนที่ 4 สำหรับไว้เป็นมรดกสำหรับบุตรหลาน ส่วนที่ 5 สำหรับเกื้อกูลคนข้างเคียง ส่วนสุดท้ายสำหรับไว้ทำบุญหรือสร้างกุศล เพราะตายไปเราก็เอาติดตัวไปไม่ได้ หากทำได้เช่นนี้ผมคิดว่าน่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเราและสังคมอย่างดีแล้วละครับ