ถ้าจะมีใครคิดว่า “คนโบราณจะไปรู้อะไร” ผมจะบอกเขาคนนั้นทันทีว่า “คนโบราณเขาช่วยคนยุคนี้ให้รอดพ้นจากอาการอัมพาตเอาไว้เยอะมาก!” กลเม็ด ลวงซ้ายทะลายขวา ในหนังหลายเรื่อง คนแก่สมัยเก่าเขาเริ่มต้นมาก่อน ผู้เฒ่าท่านแนะนำเอาไว่ว่า “น้ำเย็นโดนเนื้อตัวเราตรงไหน เลือดในร่างกายก็จะรีบไหลแล่นร้อยเมตรวิ่งปรู๊ดไปตรงจุดนั้น เพื่อสร้างความอบอุ่นให้อุณหภูมิมันสมดุล ถ้าเราเอาน้ำเย็นราดหัวก่อนเขาก็จะรุมกันวิ่งไปปกป้องสมองยังกะรถอาสากู้ภัย” (ฮา) เค้าไม่ได้ว่าอะไรตะเองเลยนะ เค้าแค่อุปมาให้เข้าใจง่าย (อิๆ)
เส้นเลือดคล้ายๆ กับถนน หรือ สะพาน ตรงที่แบกน้ำหนักเยอะๆ ก็จะเสียสภาพ ถ้านึกสภาพไม่ออกก็นึกถึงสะพานเมืองจีนที่มี คนเฮง กับ คนซวย ขย่มเล่น มันก็ยุบพังลงมา แปลว่า แปลว่า คือ แปลว่า ถ้าเส้นเลือดในหัวเรามีความเปราะบางอยู่แล้วเรายังอุตส่าห์จะชักจูงของเหลวให้ไหลเร็ว ฟาสต์แอนด์เดอะฟิวเรียส ซิ่งมาเบียดมากระแทกทำให้เส้นเลือดปริแตกเลือดก็คั่งในสมอง จึง “เกิดผลข้างเคียง” เช่น อัมพาต “เกิดผลข้างเอียง” คือ ปากเสียรูปทรง ความสุขจะลาพักร้อนทันควัน (ตีหน้าเศร้าเล่าความเห็น ... แฮะๆ)
ลีลาการอาบน้ำของคนโบราณที่ชาญฉลาด จึงเริ่มเลือกเท้าเป็นจุดสตาร์ทอัพในการรดน้ำ เลือดก็จะได้ซิ่ง กรูเกรียวลงมาคุ้มครองอุณหภูมิตรงบริเวณเท้า เอาน้ำราดล่อหลอกตรงบริเวณน่องทั้งสองข้าง แล้วค่อยหักมุมขึ้นราดน้ำตรง คอ หน้า และ หัว ถึงแม้จะมีเลือดแล่นไหลขึ้นมาสักวูบสองวูบกำลัง ก็ยังไม่มากพอที่จะรุกขึ้นมาแซะหลอดเลือด เนื่องจาก เลือดกำลังแยกองค์รักษ์พิทักษ์อุณหภูมิให้ออกไปดูแลความสงบสองด้าน
ตำรา ม.ศรีนครินทวิโรฒ เขียนโดย อ. เดโช สวนานนท์ ท่านอ้างอิงหลักเกณฑ์ Guru ต่างประเทศ ไว้ว่า “คนโง่ จะมีพฤติกรรมที่แลเห็นได้อยู่ 5 ลักษณะ คือ ปัญญาทึบ สมองทึบ โง่เฉา โง่เขลา โง่เง่า” เคยคุยไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน คงจะต้อง “ขยายนัย” กันอีกที จะค่อยๆ อธิบายความ ที่ท่าน อ. เดโช สวนานนท์ บันทึกเอาไว้ เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน ขอยืมหลักคิดที่ว่า “กินทีละคำ ทำทีละอย่าง” มาใช้เป็นแนวปฏิบัติ
เคยมีคนแย้งว่า “เขาไม่ได้โง่ เขาแค่ฉลาดน้อย” ผมก็ชี้ว่า “เรารู้น้อยแสดงว่าไอ้ที่ไม่รู้มีอยู่มาก คนที่รู้ไม่เยอะจะทำอะไรไม่ค่อยเป็น คนที่รู้น้อยมีโอกาสโดนเขาหลอกได้ง่าย ฉลาดน้อยคือโง่เยอะนั่นเอง” (!!!)
ถ้า ทวด นอนหลับยาวไป 20 ปี ปีที่ 21 ท่านฟื้นขึ้นมาเจอ Gen Z กับ Metaverse หลานก็ให้โทรศัพท์มือถือให้ท่านเล่น Metaverse แข่งกับเด็กรุ่นเหลน ทวดก็คงจะโวยหลานแหละว่า “เอ็งพาข้าไปขึ้นเมรุซะยังดีกว่า อย่างน้อยก็มีคนไหว้ข้ากันหลายคน เอ็งพาข้ามาโชว์โง่กับคนพวกนี้ทำไม” เหตุผลที่คนยุคเก่ามีครูไว้ให้ลูกศิษย์ขึ้น เพราะของมันต้องรู้ว่าชีวิตคู่มันอาร์ตสุดตอนทำการบ้านส่งเมีย (ฮา) พิมพ์มาถึงวรรคนี้ ผู้ช่วยงานผมฉวยโอกาสถามทันทีว่า “อาจารย์มีเบอร์ครูสาขานี้มั่งไหมอ่ะ” (ฮา)
ปัญญา แปลว่า ความรู้ที่เกิดจากการเรียนและการคิด ใครที่ศึกษา(ทฤษฎี) และ เรียนรู้ (ปฏิบัติ) ในสาขาวิชาใด ปัญญาก็จะโปร่ง เฉพาะหลักวิชานั้น ในเมื่อทวดท่านไม่เคยได้เล่าเรียนวิชา Metaverse ทวดก็จะกลายเป็น คน ปัญญาทึบ ในเรื่อง Metaverse เราไม่ศึกษาเรียนรู้วิชาไหนเราก็โง่เรื่องนั้น
เศรษฐีอยากได้ลูกสาวชาวนามาเป็นเมีย จึงออกอุบายเชิญชาวนาซึ่งเป็นลูกหนี้กับลูกสาวไปคุยกันในสวนใกล้คฤหาสน์ พื้นกลางสวนมีแต่กรวดสีดำกับสีขาว เศรษฐีต่อรองกับชาวนาว่า “ถ้ายกลูกสาวให้ข้า ข้าจะยกเลิกหนี้สินทั้งหมด”
ชาวนาไม่โอ.เค. เศรษฐีท้าทายว่า “เอางี้ๆ ข้าจะเอากรวดสองก้อนใส่ไว้ในถุงผ้า ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว หากลูกสาวของท่านหยิบได้ก้อนสีขาว ข้าจะล้างหนี้ให้ทั้งหมด ผิว่า ลูกสาวท่านหยิบได้ก้อนสีดำ นางก็ต้องเป็นเมียข้า ข้าไม่เอาเปรียบ จะยกหนี้ให้เช่นกัน”
หลังจากชาวนาใจอ่อน เศรษฐีก็หยิบกรวดสองก้อนใส่ในถุงผ้า ลูกสาวตาไวแต่ไม่ท้วงติงทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่ากรวดทั้งสองก้อนสีดำ ลูกสาวนึกภาพออกว่า ถ้าเธอเปิดโปงเศรษฐีจะเสียหน้าพ่อก็จะลำบากเรื่องหนี้สิน เธอจึงเอื้อมมือลงไปในถุงผ้าหยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อนแล้วเล่นละคร ขาวกับดำ ทำซุ่มซ่ามจนกรวดในมือร่วงลงสู่พื้น แล้วก็พูดจาปิดการขาย (ขายตัวของข้าและขายหน้าของเอ็ง)
ความว่า “หนูขอโทษที่พลั้งเผลอปล่อยหินหล่น ร่วงลงไป แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อในถุงมีก้อนกรวดสีขาวกับสีดำอย่างละก้อน เราก็เอากรวดที่เหลือในถุงอีกก้อนมาดูกันเถอะ เราจะได้รู้ว่ากรวดที่หนูหยิบไปเมื่อสักครู่ มันเป็นสีอะไร!”
เกมนี้ เศรษฐี โดน ลูกสาวชาวนา น็อคแบบไม่ต้องนับ เนื่องจาก ในหัวคิดของ ลูกสาวชาวนา เธอมีแต่ Common Sense เช่น ไม่ผลีผลามปฏิเสธพูดจาหักหน้า เพราะเกรงว่าเศรษฐีจะเล่นงานพ่อเรื่องหนี้สิน เมื่อควบคุมอารมณ์ได้ก็จะมีสมาธิดูความเคลื่อนไหวของเศรษฐีได้ทุกย่างก้าว เศรษฐีผู้นี้สอบตกเรื่องการครองตน เพราะว่าในหัวคิดของ เศรษฐี มีแต่ Common Sex (ฮา)
ศาสตราภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ท่าน จบ ป.ตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ของ ม.จุฬาฯ เคยสอนผมว่า “ถ้าคนที่โง่ที่สุดของบริษัทเราสามารถรับมือกับคนที่ฉลาดที่สุดของบริษัทคู่แข่ง บริษัทเราจะเป็นองค์กรที่ก้าวหน้ากว่าหลายช่วงตัว!” (ว้าว)