โยคะกับแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้สูงวัย 2

16 มิ.ย. 2566 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โยคะกับแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้สูงวัย 2 โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องโยคะกับผู้สูงวัย ซึ่งเป็น EP1 ก็ได้รับความสนใจจากแฟนคลับที่เป็นผู้สูงวัยไม่น้อย อีกทั้งสื่อวิทยุ 96.5 MH ในรายการ Humans Talk ที่ออกอากาศทุกเช้าวันอาทิตย์เวลา 6:00 น.ดำเนินรายการโดยคุณวิชัย วรธานีวงศ์ ก็ได้เชิญผมไปร่วมรายการ เพื่อเสนอความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวนี้ 

ซึ่งต้องบอกว่าวันนั้นสนุกมากๆ สำหรับผม เพราะสามารถเผยแพร่แนวคิดเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะอีกช่องทางหนึ่ง เพราะในความมุ่งหวังของผม ผมต้องการจะช่วยกระตุ้นเรื่องการนำเอา “แพทย์ทางเลือกของไทย” ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรไทย ที่เอาตำรับยาแพทย์แผนไทยแต่ดั้งเดิม ที่เราเคยใช้อยู่เป็นประจำเสมอมา แต่กำลังจะหดหายไปในอนาคต ให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง 

หรือแม้แต่การนวดแผนไทย การใช้ลูกประคบที่มีส่วนประกอบของยาสมุนไพรไทยเป็นสารตั้งต้น ในการแก้โรคบางโรค ที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้สารเคมี  ในการนำมาเป็นส่วนประกอบ หรือการกด การอบ การคลึง ฯลฯ มาใช้ในการแก้ไขอาการเจ็บป่วย ที่ในอดีตบรรพบุรุษของไทยเราเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา ให้แพร่หลายต่อไปครับ

อย่างที่เคยเล่าในตอนที่ผ่านมาว่า ผมได้ไอเดียนี้มาจากการนั่งเสวนากับปรมาจารย์ด้านโยคะ คือท่าน Bhagavan Shanmukha ที่ท่านได้ชี้แนะเรื่องของโยคะกับศาสนาพุทธ โดยท่านบอกว่าไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะเหตุนี้ ผมจึงได้มีไอเดียที่บรรเจิดขึ้นมาเลย 

เพราะจะว่าไปแล้ว ในประเทศแถบอาเชียนของเรา ทุกๆ ประเทศก็มีการรักษาด้วยการแพทย์แผนดั้งเดิมของเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ล้วนมีการแพทย์แผนดั้งเดิมอยู่ทุกประเทศ เพียงแต่เรายังไม่ได้มีคนมาทำวิจัยเชิงเปรียบเทียบ เพื่อนำเอาจุดดีจุดเด่นของแต่ละประเทศออกมาใช้นั่นเอง
        
สำหรับการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ด้วยการทำ “โยคะ” ในอดีตกาลตั้งแต่ก่อนพุทธศักราช ก็มีมาก่อนแล้ว จะเห็นได้จากก่อนที่พระพุทธองค์จะสำเร็จการบรรลุได้ ก็เริ่มเข้าไปศึกษาด้าน “โยคะ” กับท่านฤษีสองตน เพื่อต้องการจะเข้าถึงปรินิพพาน ซึ่งเข้าใจว่าในยุคนั้น การบำเพ็ญทุกรกิริยา สามารถเรียนรู้ถึง “ตันตระโยคะ” ซึ่งหมายถึงโยคะขั้นสูงนั่นคือการหลุดพ้น

โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เดินทางไปเล่าเรียนวิชาร่วมกับปัญจวัคคีย์ (สหายธรรมทั้งห้า) การเรียนครั้งนั้น พระองค์ท่านทรงเรียนได้ถึงฌานแปด แต่ก็หยั่งรู้ได้ก่อนว่า นั่นไม่ใช่วิธีการที่จะบรรลุได้ จึงทรงยกเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วหันมาศึกษาด้วยตนเอง จนกระทั่งตรัสรู้ 

จากนั้นจึงกลับไปโปรดสหายทั้งห้าหรือปัญจวัคคีย์ ซึ่งในการเดินทางไปโปรดแสดงธรรมเทศนาครั้งนั้น ปัญจวัคคีย์หาได้ให้ความสำคัญไม่ คงเป็นเพราะเคยเรียนมาด้วยกัน จึงใช้คำพูดที่ถามพระพุทธองค์ว่า “ท่านสิทธัตถะ สบายดีหรือ?” พระองค์ท่านทรงกล่าวตอบว่า “เราไม่ใช่สิทธัตถะ เราคือพุทธะ” 

ในการสนทนาธรรมครั้งนั้น มีประโยคหนึ่ง ที่ทำให้ “โกณฑัญญะ” หนึ่งในปัญจวัคคีย์เกิดดวงตาเห็นธรรม คำนั้นคือ “อะไรเกิดแต่เหตุ ให้ดับที่เหตุนั้น” ท่านโกณฑัญญะได้รับฟังคำนี้ จึงได้ก้มลงกราบพระพุทธองค์ทันที ท่านจึงได้ทรงตรัสว่า “ท่านโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” นี่คือคำสำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และจึงได้เกิดพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนานั่นเองครับ     
     
ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า “โยคะ” กับพุทธศาสนา มีความสัมพันธ์กันมาอย่างลึกซึ้ง ถ้าเราสังเกตดูจากวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การนั่ง ยืน นอน ในพระพุทธศาสนา ที่เห็นได้จากพุทธกริยาของปางต่างๆ ของพระพุทธรูป ก็ได้เอาแบบอย่างของโยคะเข้ามาร่วมปฏิบัติด้วยเสมอ 

หรือการปฏิบัติธรรมในส่วนของการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ก็มีกริยาบทล้วนคล้ายคลึงกับการทำโยคะทั้งสิ้น ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า พุทธศาสนากับโยคะ จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกเลยจริงๆ ครับ
       
ในขณะที่โยคะกับการแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แผนไทยเรา ก็สามารถพูดได้ว่ามีหลายๆ ส่วนที่คล้ายคลึงกันเช่นกัน เช่น ยารักษาโรค ที่ทางโยคะจะใช้แต่สมุนไพรเป็นหลัก ผมได้เสวนาแลกเปลี่ยนกับปรมาจารย์โยคะ ท่าน Bhagavan Shanmukha ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ตั้งแต่ท่านจำความได้ ท่านก็เล่าเรียนวิชาโยคะมาจากคุณพ่อของท่าน ท่านจะรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำ จะไม่รับอาหารที่มีสารเคมีหรือใช้ยาฆ่าแมลง(อาหารออแกนิค) 

และจะไม่รับยาที่ไม่ใช่ยาสมุนไพรเป็นอันขาด ผมจึงแกล้งแซวไปว่า “อย่างงั้นวัคซีนป้องกันโควิด ท่านก็ไม่ได้ฉีดละสิ ท่านนั่งห่างๆ ผมนะครับ” ท่านก็หัวเราะชอบใจและบอกผมว่า “ไม่ได้ฉีดเลยแม้แต่เข็มเดียว แต่ไม่ต้องกังวล เพราะผมมีอาการปกติทุกประการ ไม่ได้มีอาการไข้ ปวดหัว ตัวร้อนมานานแล้ว” เฮ้อ....โล่งใจไป เพราะเวลาพบเจอกัน เราจะต้องสัมผัสท่านทุกครั้งไป เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อกันครับ
          
สำหรับ “โยคะ” กับแพทย์ทางเลือกของเรา ต้องพูดว่าในประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการใช้ยาสมุนไพรมาตั้งแต่นมนาน เท่าที่ผมจำความได้  คุณแม่ผมก็จะใช้ยาสมุนไพรมาดูแลรักษาพวกเรามาเสมอ เช่น อาการปวดหัวตัวร้อน หรือเป็นหวัด คางทูม เจ็บคอ เป็นต้น ท่านมักจะใช้ภูมิปัญญาของชาวอิสาน มาดูแลรักษาเราเสมอมา ผมจึงคุ้นเคยกับยาเหล่านั้นมานาน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม “ยาเย็นแก้ร้อนใน” อาทิเช่น ใบบัวบก หว่านกลาบหอย มะขามป้อม  หรือฟ้าทะลายโจร 

ซึ่งจะเป็นยาช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ร้อนใน ได้ชะงัดมาก ในปัจจุบันนี้ เชื่อว่าเด็กรุ่นหลัง จะไม่เคยถูกพ่อแม่เอายากวาดคอหรือสมานลิ้นตราใบโพธิ์มาทำการรักษา ซึ่งผมก็โตมากับยาขนานนี้ ที่จะต้องมีติดบ้านไว้เสมอครับ อีกทั้งเวลาผมเกิดพลัดตกหกล้ม แขนขาหัก ซึ่งมีเป็นประจำสำหรับเด็กที่ซนเป็นปกติวิสัยอย่างผม 

คุณแม่ก็จะพาไปพบแพทย์พื้นบ้าน ที่ชื่อ “พ่อใหญ่วอน” ท่านจะเก่งเรื่องคาถาอาคม จำได้ว่าทุกครั้งท่านจะมีการปลุกเสกน้ำมันงา มาจัดการแก้ความซนที่นำมาซึ่งแขนหักขาหักเป็นประจำ พวกผมนอกจากจะมีอาการป่วยหนักจริงๆ ถึงจะถูกส่งไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดเสียที ซึ่งตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยได้ไปโรงพยาบาลเลย นอกจากฉีกวัคซีนบางชนิด ที่ไปฉีดที่ “สุขศาลา” ประจำอำเภอเท่านั้นครับ
     
จะเห็นว่า โยคะกับพุทธศาสนาและแพทย์ทางเลือก ยากที่จะแยกออกจากกันครับ อาทิตย์หน้าเรามาคุยกันต่อในเรื่องนี้อีกนะครับ ชักสนุก......สำหรับผู้เขียน แต่สำหรับผู้อ่าน ......ไม่ทราบว่าจะสนุกหรือเปล่า? คอมเม้นต์มาได้นะครับ ผมยินดีรับฟังครับ