โรคหูกับผู้สูงวัย

12 พ.ค. 2566 | 22:42 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โรคหูกับผู้สูงวัย โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ครั้งที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงเรื่องโรคหูตึงกับผู้สูงอายุ ก็มีเพื่อนแฟนคลับส่งคำถามมา ถามว่าแล้วจะมีการป้องกันมิให้เกิดอาการหูตึงได้อย่างไร? เอาเป็นว่า เป็นคำตอบที่มาจากผู้ที่ไม่ใช่หมออย่างผม ท่านก็อย่าได้จริงจังมากนะครับ แค่อ่านแล้วลองไปปฏิบัติตามดูบ้าง อาจจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ
     
โรคหูตึงอย่างที่ได้เล่าไปครั้งที่ผ่านมาว่า มีต้นเหตุหลักๆ มาจากสองประเภทด้วยกัน คือเกิดจากกรรมพันธุ์ กับเกิดจากการที่เราไม่ได้ใส่ใจระมัดระวังตนเอง ในกรณีที่เกิดจากกรรมพันธุ์ อันนี้ก็คงช่วยไม่ได้ เพราะท่านเกิดมาแล้ว ก็แล้วแต่บุญนำกรรมแต่งละครับ ครั้นจะบอกว่าต้องไปเกิดใหม่ ก็จะเกิดมีการโดนเตะจากท่านก็ได้ .....ฮา 

ส่วนอาการหูตึงที่เกิดจากการดูแลตนเองนั้น เราคงสามารถป้องกันการไม่ให้เกิดได้ แต่ต้องป้องกันตั้งแต่เด็กๆ แล้วละครับ ใครที่มีพ่อ-แม่ที่ใส่ใจมาแต่อ้อนแต่ออกก็โชคดีไป ส่วนตัวผมเองตั้งแต่จำความได้ คุณแม่ผมจะพยายามห้ามไม่ให้ลูกแคะหูหรือปั่นหูตัวเองเล่น แม้จะทำให้เกิดอาการ “มันมาก” เวลาปั่นหูตนเอง คุณแม่ก็จะดุไม่ให้ทำ

เพราะนั่นอาจจะทำให้ถ้าไม่ระมัดระวัง หรือยิ่งปั่นยิ่งมัน กระทั่งไปกระทบกระเทือนถึงแก้วหูได้ หรือบางครั้งเวลาเล่นน้ำ พอน้ำเข้าหู ก็จะต้องรีบใช้สำลีปั่นหูด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดอาการน้ำขังในรูหู จนทำให้หูมีน้ำหนอง หรือเกิดอาการอักเสบ นี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พออายุมาก ทำให้เกิดปัญหาหูตึงได้ 
      
อีกท่านหนึ่งที่เป็นน้องที่ทำงานในสภาฯอยู่กับผม ก็ส่งคำถามมาถามว่า ถ้าหูได้ยินไม่เท่ากัน เป็นไปได้หรือไม่ว่า เป็นเพราะชอบใส่หูฟังในการฟังเพลง? (ขอบคุณมากที่ช่วยถามมา ผมกำลังตัน ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดีอยู่พอดีเลย แหม...ช่างช่วยกันทำมาหากินจริงๆ เลยนะ) ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่เด็กรุ่นใหม่ชอบใช้หูฟัง ใส่ไว้ในหู แล้วก็เปิดเพลงดังๆ เสมอ โดยเฉพาะเพลงที่จังหวะมันๆ แรงๆ ยิ่งต้องฟังเสียงดังๆ ถึงจะเข้าถึงความรู้สึกอันสนุกสนาน 

ซึ่งนั่นอันตรายต่อระบบการได้ยินของหูเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่ทราบว่าเสียงดังๆ เหล่านั้น ดังถึงกี่เดซิเบล(dB) ซึ่งระดับความดังต่อการเป็นอันตรายต่อหูคือ ต้องต่ำกว่า 120 dB ถ้ามากกว่านั้น ก็จะทำลายระบบการได้ยินเสียงได้ครับ ดังนั้นจึงไม่ควรให้หูของเรา ต้องมารับภาระในการรับฟังเสียงมากจนเกินไป ควรจะต้องบอกลูกหลาน ให้ระวังเมื่อยามแก่ตัว เดี๋ยวจะกลายเป็นคนแก่หูตึงก็จะแย่นะครับ

อีกประการหนึ่ง คือเสียงที่ดังเกินไป จากสภาพแวดล้อมใกล้ตัว เพราะหลายคน อาจจะไม่มีทางเลือก ที่จะต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม ซึ่งเสียงทั่วไป สามารถวัดได้จาก Sound meter ซึ่งถ้ามีชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ระดับที่รับได้สูงสุดคือ 91 dB ถ้าเวลาทำงาน 7-8 ชั่วโมง ระดับที่รับได้สูงสุดคือ 90 dB ถ้าเวลาทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง ระดับที่รับได้สูงสุด 80 dB 

ดังนั้นการรับฟังเสียงดังมากๆ นานๆ คงต้องเพลาๆ ลงบ้าง ควรจะต้องสงสารหูตัวเองบ้าง ให้มันได้พักบ้างนะครับ หลังจากใช้มันมาหลายสิบปีครับ อย่ารอให้ตอนที่เท้าชี้ฟ้า(จากโลกนี้ไปแล้ว) ค่อยให้หูได้พักผ่อนนะครับ
       
อาการหูตึงที่เกิดจากการแพ้ยาบางชนิด ที่มีสารเคมีที่เราไม่จำเป็นต้องได้รับ ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่เราสามารถป้องกัน ก่อนที่จะเกิดหูตึงได้ เพราะยาทุกชนิด ควรจะอ่านฉลากก่อนรับประทานเสมอ หากมีอาการแพ้ยาเหล่านั้น ควรหยุดทานทันที ไม่ต้องเสียดายยานะครับ เพราะหากเสียดายว่ายาซื้อมาแล้วไม่ได้ทาน ท่านอาจจะต้องเสียค่ารักษามากกว่าค่ายาที่เสียไปเสียอีกครับ ผมคิดว่า พอมีอาการตามที่ฉลากยาระบุใว้ชัดเจน ว่านี่คืออาการแพ้ยา ท่านก็ต้องเข้าใจแล้วว่าไม่ควรทานต่อไปแล้วละครับ
      
ที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” ของผม มีท่านผู้สูงวัยท่านหนึ่ง ช่วงแรกที่เข้ามาพัก ทางญาติแจ้งว่า มีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน เวลายืนก็จะล้ม เดินไม่ค่อยได้ คล้ายๆ บ้านหมุนและเวียนศีรษะอยู่เสมอ ตอนที่ท่านมาพักวันแรก ทางเราได้จัดนักบริบาลไปนอนเฝ้า และจดบันทึกอาการไว้ทุกความเคลื่อนไหว และให้ทานยาตามที่ท่านติดตัวมา ซึ่งท่านเองก็ไปพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบว่า ท่านมีอาการเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์ก็ให้ทานยาตามสั่ง 

จากบันทึกที่น้องผู้บริบาลบันทึกไว้ จากการวัดความดันของท่านติดต่อกันมาหลายวัน ก็เห็นว่าความดันของท่าน ตัวบนมีเพียง 75-90 ทุกๆ วัน (ปกติอายุขนาดนี้ ความดันตัวบนควรอยู่ที่ 120-140) ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของยารักษาโรคความดันโลหิตนั่นเอง อาการอีกอย่างหนึ่งที่ผู้บริบาลบันทึกไว้ คือท่านจะมีอาการไอแห้งๆ ตลอดเวลา แต่ไม่มีอาการไข้ 

จนกระทั่งหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป อาการน้ำในหูไม่เท่ากันหรือบ้านหมุนตามที่เข้าใจ ก็ไม่บรรเทาเบาบางลง ทางเราจึงได้ตรวจสอบดูยาที่ท่านทานอยู่ ว่ามียาอะไรบ้าง? จึงทราบว่าท่านมียาแก้โรคความดันโลหิตสูงอยู่สองชนิด ยาตัวแรกชื่อสามัญทางยาเรียกว่า amlodipine besylate มีชื่อตัวที่สองชื่อสามัญทางยาเรียกว่า “Enalapril Maleate” ซึ่งยาตัวหลังนี้ หากผู้สูงอายุแพ้ยา จะทำให้เกิดมีอาการไอแห้งๆ นั่นเอง ทางเราจึงสั่งให้งดยาตัวที่สองทันที เพื่อดูอาการอีกครั้ง 
        
หลังจากที่สั่งให้งดยาตัวที่สองไปเพียงสองวัน ท่านก็เริ่มมีอาการสดชื่นขึ้นมาทันที อาการไอแห้งๆ ก็หายไปด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคืออาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ก็หายไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสามารถออกมาร้องเพลงได้อย่างสนุกสนาน นั่นแสดงให้เห็นว่า ที่ท่านบ่นว่าบ้านหมุน ญาติพี่น้องก็เข้าใจว่า เกิดจากอาการน้ำในหูไม่เท่ากันนั้น เป็นการเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ จะไม่ได้ดูว่าแพทย์จ่ายยาให้ท่านนั้น คือยาอะไร? ก็ทานตามแพทย์สั่งอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้แพทย์ให้คำปรึกษาอย่างละเอียด อีกทั้งหลังทานยาที่แพทย์สั่งแล้ว มีอาการเช่นไร? ก็ไม่ได้สอบถามแพทย์ที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และเข้าใจไปเองว่า ตนเองเป็นนั่นเป็นนี่ จนกระทั่งมีปัญหาจึงจะปรึกษาแพทย์นั่นเองครับ
       
ในความคิดของผม ไม่ว่าเราจะทานยาอะไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เราสามารถเข้าไปหาดูข้อมูลของตัวยาในอินเทอร์เน็ตได้เสมอว่า ตัวยานั้นๆ มีชื่อสามัญของยา ส่วนประกอบของยา สรรพคุณของยา และอาการแพ้ของยา ว่าเป็นเช่นไร? 

จากนั้นควรจะต้องสังเกตดูอาการของตนเองหลังทานยาเสมอ หากมีอาการแพ้ยาเสมือนดังที่ฉลากยาระบุไว้ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ อย่าได้นิ่งนอนใจหรือเกรงใจแพทย์ เพราะนั่นจะเป็นบ่อเกิดของอาการป่วยที่เราคาดไม่ถึงเสมอ และต้องระลึกไว้ว่าเรื่องเล็กๆ เช่นนี้ มักจะทำให้เกิดเรื่องใหญ่ตามมาได้ตลอดเวลาครับ