หลวงพุทธทาส ท่านเคยกล่าวเสมอว่า หลักตรรกะของพุทธศาสนา ที่ปรากฏเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกมิตินั้นล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ ได้ยินครั้งแรก ด้วยการนำเอาเรื่องจิตวิญญาณทางด้านศาสนากับวิทยาศาสตร์เข้ามาผสม ด้วยรูปภาษาฟังแล้วก็น่าตกใจ มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ
ก็ต้องเข้าใจว่าคำว่าศาสนามักจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกลับ เป็นเรื่องที่ต้องมีการปฏิบัติมีพฤติกรรมต่างๆ มากมาย หรือมองอีกนัยหนึ่งก็คือ มันยากที่มนุษย์ทั้งหลายจะเข้าไปสัมผัสถึงแก่นของคำว่าศาสนาได้ จึงเป็นเรื่องลึกลับ เรื่องนี้ก็เป็นความเข้าใจกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ
แต่คำว่าวิทยาศาสตร์ หมายถึงองค์ความรู้ที่สามารถค้นคว้าได้ เข้าถึงได้ ไม่ได้มีความลึกลับแต่อย่างใด และที่สำคัญคือพิสูจน์ได้
เมื่อหลวงพ่อพุทธทาส ยืนยันแน่นหนักว่าพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์ก็เลยเกิดความสงสัย แต่เมื่อได้ศึกษาไปฟังคำสอนของท่านไปเรื่อยๆ ทำให้เห็นบางมุมที่ค่อนข้างชัดเจนโดยท่านนิยามว่า
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ลึกซึ้งเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ศาสนาที่ลึกลับ เพราะคำว่าลึกซึ้งสามารถสัมผัสได้ ค้นคว้าได้ เห็นผลลัพธ์ได้ด้วยตัวเองอย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าลึกลับมันก็ยากที่จะพิสูจน์ในเรื่องนั้นๆ เพียงแค่ 2 คำ คำว่าลึกซึ้งกับลึกลับ ก็ทำให้เห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้นแห่งความเป็นพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์เพราะว่าสามารถพิสูจน์ได้ แต่การพิสูจน์นั้นต้องเอาตัวเองเข้าไปพิสูจน์ เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า พระธรรมอันผู้บรรลุจะพึงรู้เฉพาะตัว เพราะถ้าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จะเข้าไปรู้ เข้าไปสัมผัส เข้าไปเห็นได้ด้วยตัวของเราเองคงไม่ได้
แต่เมื่อไหร่ที่พยายามนำเสนอ ศาสนาเป็นเรื่องลึกลับอันนั้นก็จะเป็นในมุมที่แตกต่าง และคงไม่ใช่พุทธศาสนาที่สมบูรณ์ พอได้ฟังคำสอนของท่านตามนี้ก็ทำให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องของพุทธศาสนาคือนำเอาหลักการเอาตรรกะคำสอนไปปฏิบัติ ความสมบูรณ์แห่งความเป็นพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นในตัวในตนของเราทุกคน ตั้งแต่เรื่องศีลธรรมเบื้องต้นพื้นๆ ไปจนถึงเรื่องของการหลุดพ้นดับทุกข์ สามารถพิสูจน์ได้หมดทุกขั้นทุกตอน
มีคำเล่าลือกล่าวอ้างกันว่า ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ได้กล่าวว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์ เป็นมากกว่าคำว่าศาสนา ซึ่งในความหมายของไอน์สไตน์นั้น ก็คือทุกๆ มิติของคำสอนสามารถพิสูจน์ได้ และที่น่าทึ่งก็คือคำว่าปรมาณูที่พระพุทธเจ้าทรงใช้มาแล้ว 2000 กว่าปี ได้เป็นจุดเริ่มแห่งแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ไอน์สไตน์สามารถคิดค้นสิ่งต่างๆขึ้นมาบนโลกนี้ได้ เพราะสิ่งที่เล็กที่สุดกลับมีอานุภาพที่มากที่สุด นี่คือคำที่สรุป ได้อย่างชัดเจนจากคำว่าปรมาณู ที่มีการแบ่งตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ปรมาณูมีขนาดแค่ไหน พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่า ลองเอาเมล็ดข้าว 1 เมล็ด มาแบ่งเป็น 7 ส่วน แล้วเอา 1 ส่วนที่ได้มาตัดเป็นอีก 7 ชิ้น แล้วเอา 1 ชิ้นมาแบ่งเป็น 36 ส่วน แล้วเอา 1 ส่วนมาแบ่งอีก 36 ส่วน จนท้ายที่สุดจะได้ของที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า ปรมาณู
การเรียนรู้ พุทธศาสนา อย่างเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็สามารถนำเอาความรู้นั้นมาพัฒนา จิตวิญญาณให้มีการเติบโตให้มีสติปัญญามากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อเข้าใจในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงบนโลกใบนี้ ว่าแท้ที่จริงแล้วมันก็เป็นเช่นนี้, เช่นนี้ หรือเป็นเช่นนี้เอง อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวบ่อยๆ เมื่อเข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้เป็นเช่นนี้เอง ใจเราก็จะวางได้คลายได้ เมื่อวางได้ใครได้ทุกทั้งปวงก็เหลือน้อยลงเป็นลำดับ
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งไม่ใช่ลึกลับ สามารถน้อมเอาไปปฏิบัติตามได้จริง ทำสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดได้จริงตามที่ตนปรารถนา แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับความเพียรและองค์ความรู้ที่ควบคู่กันไป เมื่อถึงจุดที่สามารถคลี่คลายทุกข้อสงสัยได้แล้ว ธรรมทั้งปวงก็จะปรากฏขึ้นเอง