KEY
POINTS
ความเป็นนิกาย ทั้งนิกายภายในและภายนอกไม่เป็นอุปสรรคใดๆ แก่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสเลยแม้แต่น้อยในการเผยแผ่ธรรม
นิกายภายใน คือ ความเป็นพุทธศาสนาของไทยที่มีนักบวชสองนิกาย ได้แก่ ธรรมยุตินิกาย และมหานิกาย ส่วนนิกายภายนอก คือ หินยานหรือเถรวาท และ มหายาน อันมีทั้ง เซ็น วัชรยาน เป็นต้น
ท่านเน้นย้ำเสมอว่า จะนักบวชนิกายใดคณะไหน ต่างมีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด คือ นิพพาน ส่วนรูปแบบ จารีต ประเพณี พิธีกรรม เป็นสิ่งที่มาทีหลังทั้งสิ้น ถ้าเน้นในธรรมอันสูงสุดเป็นที่ตั้งแล้ว ก็คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง
ต่างก็จะเห็นพุทธะ การตื่นรู้ ในหัวใจเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการเรียนรู้ศึกษาธรรมทั้งปวง แม้การลงอุโบสถในระบบเถรวาทก็ไม่มีปัญหา จะธรรมยุติจะมหานิกายก็เป็นพระประเทศเดียวกัน จะลังกาวงศ์ สยามวงศ์ ย่อมไม่ต่างกัน
ผมตามงานอ่านเล่มหนึ่งของเจ้าคุณพุทธทาส ชื่อ เว่ยหล่าง เป็นหนังสือที่อ่านเมื่อ 30 กว่าปีก่อน แม้หยิบมาอ่านวันนี้ก็ทำให้ปัญญาลุกโชนแบบบอกไม่ถูกว่า เป็นเพราะอะไร...
ต้องยอมรับว่า ท่านเว่ยหล่าง พระจีนสายมหายานที่เคยมีตัวตนอยู่จริงเมื่อในอดีต ท่านฉีกทุกกฏของจารีตประเภทแห่งการบรรลุธรรม ที่ต้องมีการแย่งชิงบาตรและจีวรเพื่อแสดงความเป็นผู้ถึงธรรม
แค่มีใจที่พร้อม... บาตรและจีวรไม่ต้องมี ต้นโพธิ์ก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี ไม่มีอะไรกับอะไร จึงทำให้ใจละอุปาทานขันธ์ออกได้ การละอุปทานขันธ์ได้จึงทำให้เรามีความสุขมากที่สุด เพราะไม่สะดุ้งหวาดกลัว ไม่ตื่นข่าว ไม่สนใจในโลกธรรมเอง
ท่านเจ้าคุณพุทธทาส.. ใช้สำนวนเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจถึงภาวะแห่งพุทธะในใจแบบสงบแต่ตื่นรู้ ไม่ใช่สงบนิ่งเงียบแบบพรหมลูกฟัก...
เนื้อในหนังสือนั้นพอประมาณความว่า
เว่ยหล่าง จากบ้านทางทิศใต้ไปอยู่วัดทางตอนบนของจีน เพื่อไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของพระโพธิธรรม องค์ที่ 5 เมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระโพธิธรรมได้ถามว่า
เจ้าเป็นคนป่าจะเรียนธรรมะได้อย่างไร...
เป็นคำถามเพื่อลองภูมิ ปรากฏว่า พระโพธิธรรมต้องอึ้งกับคำตอบ
“จะคนป่า คนเขา คนที่ไหนๆ ความเป็นพุทธะในจิตใจก็หาทำให้เกิดความแตกต่างได้ไม่”
หลวงพ่อเจ้าอาวาสเข้าใจเลยว่า เว่ยหล่าง คนป่า คนเขาทางใต้ คนนี้ไม่ธรรมดา จึงไล่ให้ไปอยู่ในครัวเพื่อมิให้ใครมาจ้องมองและทำอันตรายอะไรแก่เขา
คราวหนึ่งหลวงพ่อโพธิธรรมประกาศในหมู่ศิษย์ให้มาเขียนโศลกธรรม เพื่อที่จะตรวจสอบจิตใจว่าใครสมควรที่จะได้รับการถ่ายทอดธรรม พระรูปหนึ่งในวัดที่เรียกได้ว่าเป็นตัวเต็ง ได้เขียนโศลกธรรมว่า
“กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเรา คือ กระจกเงาอันใส เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ โมงยาม ไม่ให้ฝุ่นละอองจับ”
เมื่อใครเห็นโศลกธรรมนี้ ต่างก็พากันสรรเสริญว่า น่าจะได้รับการยกย่องและถ่ายทอดธรรมะเพื่อให้ได้เป็นพระโพธิธรรมองค์ต่อไป แต่เรื่องนี้ทราบไปถึงหูของเว่ยหล่างซึ่งอยู่ในครัว จึงเดินออกมาแล้วให้คนแถวนั้นอ่านให้ฟัง เมื่อเขาได้ฟังแล้วจึงบอกให้ชายหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นราชการ ช่วยเขียนโศลกธรรมของเขาให้หน่อย ราชการหนุ่มคนนั้นจึงถามว่า คนป่าอย่างเจ้ามีโศลกธรรมกับเขาด้วยหรือ...ไหนลองว่ามาสิ ไหนลองว่ามา
เว่ยหล่างได้บอกโศลกธรรมนั้นไป ราชการหนุ่มคนนั้นเขียนไปมือสั่นไป ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบได้ ความของโศลกธรรมนั้นมีดังนี้
“ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาใสสะอาด เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร”
ต่อมารุ่งเช้าพระโพธิธรรม เจ้าอาวาส ได้มาอ่านโศลกธรรมทั้งสองอัน ก็เข้าใจได้ดีว่า เว่ยหล่าง จิตใจพร้อมแล้วที่จะได้รับการถ่ายทอดธรรมะ เป็นสิ่งที่อัศจรรย์มากของคนป่า คนเขา ที่ไม่รู้หนังสือ ยังเข้าใจธรรมะได้เพียงนี้
แต่แล้วท่านก็ออกอุบายเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อเว่ยหล่างอีกครั้ง ด้วยการบอกว่าโศลกธรรมของเว่ยหล่างใช้ไม่ได้ ให้ลบเสีย แต่แล้วไม่นานท่านก็แอบเดินย่องไปหาเว่ยหล่างในยามเที่ยงคืน เพื่อสนทนาธรรมพร้อมกับนัดให้ไปพบที่กุฏิ
เพื่อถ่ายทอดธรรมะให้ พร้อมมอบบาตรและจีวรให้เป็นพระโพธิธรรม สังฆปริณายก ให้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกบวชเลย แล้วบอกให้หนีออกจากวัดไปทางตอนใต้นานถึง 15 ปี บางทีไปหลบอยู่กับพรานป่าบ้าง เป็นต้น
หนังสือ เว่ยหล่าง ที่เจ้าคุณพุทธทาสแปลนี้ บอกได้เลยว่าเป็นหนังสือที่อ่านแล้วยกระดับจิตใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี และทำให้เข้าถึงตัวพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง อ่านแล้วตื่นธรรมของแท้ อ่านแล้วจิตใจไม่ไหลลงสู่ที่ต่ำโดยไม่ต้องมีพิธีกรรมและการภาวนาใดๆ
อยากให้ตามหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันครับ