ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย กับนโยบาย 30@30 เป้าหมายที่ไม่ไกลเกินฝัน

21 ธ.ค. 2565 | 04:04 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2565 | 11:04 น.

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย กับนโยบาย 30@30 เป้าหมายที่ไม่ไกลเกินฝัน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,846 หน้า 5 วันที่ 22 - 24 ธันวาคม 2565

 

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ไทยคึกคักและมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด วัดได้จากยอดจองรถยนต์ EV ภายในงาน Motor Expo 2022 ที่สูงถึง 5,800 คัน คิดเป็นสัดส่วน 15.8% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมดที่ 36,679 คัน เทียบกับสัดส่วนยอดขายรถยนต์ EV ในไทยก่อนหน้านี้ในปี 2017 และ 2020 ที่เพียง 1.3% และ 4.2% ตามลำดับ

 

โดยรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) สัญชาติจีนอย่าง BYD เข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยยอดจองเกินครึ่งหนึ่งของรถยนต์ EV ทั้งหมดภายในงาน นอกจากนี้ยังมียอดจอง Tesla ผ่านเว็บไซต์ที่สูงกว่า 5,000 คันภายหลังเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ยอดจองรถยนต์ EV เฉพาะใน 12 วันแรกของเดือนธันวาคมปีนี้สูงเกิน 10,000 คัน

 

 

ปรากฏการณ์นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดยานยนต์ EV ในไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งมาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งทำให้ราคาขายปลีกรถยนต์ EV ลดลงและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

 

รวมถึงการเตรียมความพร้อมระบบนิเวศ Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้ารอบด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนากฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย กับนโยบาย 30@30 เป้าหมายที่ไม่ไกลเกินฝัน

 

 

ตลาดรถยนต์ EV ในไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทาย แม้ว่าหลายๆ ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะมาตรการจูงใจจากภาครัฐ รวมทั้งการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทั้งการรับรู้ถึงประโยชน์ของรถยนต์ EV และ Cost of Ownership ทั้งด้านพลังงานและการดูแลรักษาที่ตํ่ากว่ารถสันดาปภายใน หรือ ICE (Internal Combustion Engine)  ตัวเลือกรถยนต์ EV ที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้นและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและหันมาใช้รถยนต์ EV มากขึ้น

 

แต่ก็ยังมีอีกหลายข้อสงสัยที่ทำให้ผู้บริโภคและสังคมเกิดความลังเล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นตลาดรถยนต์ EV มือสอง ค่าใช้จ่ายแบตเตอรี่ และคำถามที่ว่ารถยนต์ EV ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สะอาดจริงไหม แบตเตอรี่ใช้แล้วไปไหน หรือ รีไซเคิลได้ไหม

 

มาตรการภาครัฐดึงดูดค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายค่าย ให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย มุ่งสู่เป้าหมายศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV และชิ้นส่วนรถยนต์ EV ในภูมิภาค ค่ายรถยนต์หลายค่ายได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยแล้ว ส่วนหนึ่งจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ

 

ไม่ว่าจะเป็น Great Wall Motor (GWM) ที่ได้เดินสายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 1 หมื่นคัน ค่าย MG ที่ได้ประกาศแผนเปิดสายประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ จ.ชลบุรี คาดเริ่มการผลิตในปี 2566

 

อีกทั้ง BYD ที่ลงทุนซื้อที่ดิน 600 ไร่เพื่อสร้างโรงงานรถยนต์ EV แห่งแรกในอาเซียนคาดเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป

 

โดยล่าสุดนี้ แบรนด์หรูสัญชาติเยอรมันอย่าง Mercedes- Benz ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า กับ กรมสรรพสามิตเพื่อเข้าร่วมโครงการรับสิทธิลดอากรศุลกากร และลดภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำเข้ารถยนต์ BEV ในปี 2565-2566 และผลิตรถยนต์ BEV ในปี 2565-2568  

 

ตลาดในประเทศไทยที่เติบโต ส่งนโยบาย 30@30 ไม่ไกลเกินเอื้อม ทั้งฝั่งอุปสงค์จากการตอบรับที่สูงขึ้นของผู้บริโภค และด้านอุปทานจากการที่หลายค่ายเข้ามาทำตลาดรถยนต์ EV ในไทยมากขึ้น

 

ทำให้เป้าหมายของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียน และเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030

 

หรือ นโยบาย 30@30 มีโอกาสสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งความสำเร็จนี้แน่นอนว่า จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล