“ถอยกรูด” อีกปี สำหรับการตั้งงบประมาณ เพื่อจัดซื้อ “เรือดำนํ้า” ของกองทัพเรือไทย เมื่อ “กองทัพเรือ” ในยุค พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน นั่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ยังคงเสนองบผูกผันสำหรับการจัดซื้อเรือดำนํ้าจากจีน จำนวน 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565
แต่เจอกระแสสังคม และ “ฝ่ายการเมือง” เคลื่อนไหวโจมตีอย่างหนัก แม้กระทั้งคนในพรรครัฐบาลด้วยกันเองจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องสั่งให้กองทัพเรือถอนแผนงานงบประมาณโครงการจัดซื้อเรือดำนํ้าออกไปก่อน และให้แจ้งกับทางยจีน ถึงเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องขอ “ชะลอโครงการ” ออกไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
และเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนกระทรวงกลาโหม ทาง พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. ก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอถอนวาระการจัดซื้อเรือดำนํ้า 2 ลำ (ลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท) ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในปี 2563 ที่เกิดในสถานการณ์การการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกองทัพเรือในยุคที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นผบ.ทร ก็ได้เสนอ “โครงการจัดซื้อเรือดำนํ้า” จำนวน 2 ลำดังกล่าวไว้ในงบประมาณประจำปี 2564
แต่ก็ถูกต่อต้านถึงความเหมาะสมในซื้อเรือดำนํ้า ท่ามกลางการต้องจัดหางบประมาณเพื่อใช้แก้สถานการณ์โควิด ทำให้ “สภา” ต้องแขวนงบไว้จน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ให้ชะลอการจัดหาเรือดำนํ้า หรือยืดเวลาออกไปก่อน
ทำให้ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 กองทัพเรือได้ส่งคืนงบประมาณ จำนวน 3,375 ล้านบาท และ 3,425 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจำเป็นเร่งด่วน
การจัดซื้อเรือดำนํ้า ตั้งแต่ตั้งโครงการขึ้นมา ผ่าน ผบ.ทร. ทั้งจากพล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ มาถึง พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน โดยมี บิ๊กช้าง-พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหมที่ร่วมรับรู้มาตลอด
ยิ่งในภาวะที่ประเทศชาติกำลังประสบปัญหาวิกฤติโควิด-19 อย่างหนักหน่วง จนประเทศชาติต้องกู้เงินเพื่อมาแก้ปัญหา แต่การจัดซื้อเรือดำนํ้า ก็ยังอยู่ในแผนงานโครงการของกองทัพเรือมาโดยตลอด ไม่ยอมเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ต้องจับตาดูว่า “ผบ.ทร.คนใหม่” ที่มีแคนดิเดตคู่ชิง ระหว่าง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ น้องรักของ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ กับ พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ใครจะได้ขึ้นมาคุม “กองทัพเรือ” และต้องมา “รับไม้ต่อ” การจัดซื้อเรือดำนํ้า จะมีการผลักดันโครงการนี้ต่ออีกหรือไม่...
‘เรือดำนํ้า’เหมาะกับไทยมั้ย?
สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำนํ้า ของกองทัพเรือ คณะรัฐมนตรี ใน “รัฐบาลประยุทธ์ 1” อนุมัติเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 ให้จัดซื้อเรือดำนํ้าหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน
ตามแผนจะมีการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท ใช้เวลา 11 ปี
ต่อมา 7 ต.ค. 2562 คณะรัฐมนตรี รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ 2/1” ได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้จัดซื้อเรือดำนํ้าลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นกับประเทศไทย การจัดซื้อเรือดำนํ้า ก็ถูกต่อต้านมาทุกครั้งที่มีการเสนองบผูกพันไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของกระทรวงกลาโหม
ตามแผนงานเดิมนั้น การจัดซื้อเรือดำนํ้าลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท จะมีการชำระเงินแบ่งเป็นรายงวดดังนี้
ปี 2563 วงเงิน 3,375 ล้านบาท, ปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท, ปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท, ปี 2566 จำนวน 2,500 ล้านบาท, ปี 2567 จำนวน 3,060 ล้านบาท, ปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท และ ปี 2569 จำนวน 3,500 ล้านบาท
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้อ “เรือดำนํ้า” เหมาะมั้ยสำหรับประเทศไทย เพราะ “อ่าวไทย” มีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ 58 เมตร ลึกสูงสุดที่ 85 เมตร
แต่เรือดำนํ้าที่ไทยสั่งซื้อ ประสิทธิภาพในการปฏิบัติการใต้นํ้าและผิวนํ้า ความลึกปฏิบัติการน้อยสุดที่ 50 เมตร ระดับความลึกปลอดภัย 60 เมตรดำลึกสูงสุด 300 เมตร
เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความลึกของ “ทะเลไทย” กับปฏิบัติการใต้นํ้า ของ “เรือดำนํ้า” แล้ว กลัวเหลือเกินว่าเรือดำนํ้าจะเกยตื้นเอาได้...