ประเด็นที่มีการพูดคุยกันในแวดวงนายทหาร ความมั่นคงและการต่างประเทศมาระยะหนึ่งคือ การที่สหรัฐอเมริกากำลังกดดันให้มีการจัดตั้งกองกำลัง “นาโต้ 2” หรือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ขึ้นมาเพื่อเข้ามาดูแลความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ด้วยการดึงประเทศไทยเข้าร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อสกัดการขยายอิทธิพลของจีน
เป็นการสร้างกองกำลังขึ้นมาผ่านกระบวนการกระชับความร่วมมือภาคีแห่งความมั่นคง Quad กับผู้นำเหล่าชาติจตุรมิตรคือ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และ สหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร
โดยอาศัยกรอบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Indo-Pacific Economic Framwork (IPEF) ที่เริ่มต้นด้วยสมาชิก 7 ชาติอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และสิงคโปร์ กับประเทศในกลุ่ม Quad และขยายวงไปถึงเกาหลีใต้กับนิวซีแลนด์ รวมเป็น 13 ประเทศด้วยการความมั่นคงการทหารและเศรษฐกิจการค้าเข้าด้วยกัน เพื่อปิดล้อมจีนในเอเชีย
ทว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหมและฝ่ายทหารรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศไม่เคยออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีความพยายามเช่นนั้น และไม่มีทางที่ไทยจะเข้าร่วมในการจัดตั้งกองกำลังอินโด-แปซิฟิก หรือสร้างบริบทความร่วมมือทางการทหารเพราะอาจเป็นการชักศึกเข้าบ้านได้ง่าย
แต่หากใครไปติดตามเว็บไซต์ของ “สถานฑูตสหรัฐฯ” ที่ระบุถึงประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Special Summit) โดยประธานาธิบดีไบเดนจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 2565 จะพบร่องรอยแห่งความพยายามของสหรัฐชัดเจนมาก
“เป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีแฮร์ริส คือ “การเป็นหุ้นส่วนที่มั่นคงและพึ่งพาได้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อปี 2564 สหรัฐฯ ได้ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งกำหนดกรอบวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการต่างประเทศและความมุ่งมั่นที่ประธานาธิบดีไบเดนที่มีต่อความร่วมมือที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค”
บัดนี้ “นาโต้2” เริ่มเดิ่นชัดขึ้นมา จาก 2 ฉากที่ผมนำมาเสนอ ลองพิจารณา ด้วยสติปัญญากันเถอะครับ
ฉากแรก 23 มีนาคม 2565 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ พลเอก ชาร์ลส์ เอ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) และคณะ ในโอกาสเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ
กองทัพบกได้จัดทหารกองเกียรติยศให้การต้อนรับ พลเอก ชาร์ลส์ เอ ฟลินน์ จากนั้นผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ ยุทโธปกรณ์ และวิวัฒนาการด้านต่างๆ ของกองทัพบกไทย ก่อนเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความร่วมมือด้านความมั่นคง ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19
การพบปะวันนั้น ผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวขอบคุณและยินดีที่ พลเอก ชาร์ลส์ เอ ฟลินน์ ตอบรับคำเชิญและเดินทางมาเยือนกองทัพบกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง หลังจากทั้งสองฝ่ายได้เคยหารือกันผ่านระบบออนไลน์เมื่อ ก.ค. 2565 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคงและการฝึกแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาทิ การฝึกร่วมผสม Cobra Gold, การฝึกผสม Balance Torch และ ล่าสุดคือการฝึกผสม “Hanuman Guardian 2022”
พลเอก ณรงค์พันธ์ ผู้บัญชาการทหารบกได้กล่าวขอบคุณที่สหรัฐฯให้การสนับสนุน และดูแลกำลังพลของไทย ทั้งสองฝ่ายยังได้พูดคุยถึงการพัฒนาและขยายกรอบความร่วมมือในการฝึกแลกเปลี่ยนทางทหารทั้งในระดับหน่วยและการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรทางทหาร Lightning Academy, Air Assault และ Jungle Operation Training การสนับสนุนการศึกษาตามโครงการ IMET, หลักสูตรวิทยาลัยการทัพบก และเสนาธิการทหารบกสหรัฐฯ ควบคู่กับการจัดประชุมความร่วมมือด้านการแพทย์ การบรรเทาสาธารณภัย การช่วยเหลือประชาชน การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้แก่กำลังพลผ่านการบรรยายพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ อาทิ การพัฒนาไซเบอร์และระบบเครือข่ายสารสนเทศ เป็นต้น
กองทัพบกได้จัดพิธีประดับปีกร่มกิตติมศักดิ์และมอบโล่ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง ทบ.ไทย - ทบ.สหรัฐฯ รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ในความร่วมมือของสองประเทศ ที่พร้อมร่วมกันเสริมสร้างความมั่นคงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลต่อไป
ฉากนี้คือตัวเปิด อันว่า กองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก–อินโด (United States Indo-Pacific Command; USINDOPACOM) เป็นกองกำลังผสมซึ่งอยู่ในหน่วยงานของกองทัพสหรัฐ ที่รับผิดชอบในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก มีผู้บัญชาการมาจากการเป็นทหารอาวุโสของกองกำลัง
เดิมกองกำลังนี้มีชื่อเริ่มก่อตั้งว่า กองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก (United States Pacific Command; USPACOM) ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก–อินโด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2018 เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
กองกำลังสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก-อินโดนี้เป็นกองกำลังที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในบรรดากองกำลังผสมทั้งหมด กองกำลังมีอาณาเขตครอบคลุม 100 ล้าน ตารางไมล์ (260,000,000 ตารางกิโลเมตร) โดยเริ่มต้นจากชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐจนถึงแนวชายแดนทางทะเลฝั่งตะวันออกของปากีสถาน เส้นเมริเดียน 66 องศาลองจิจูดทางตะวันออกของกรีนิช และจากอาร์กติกไปยังแอนตาร์กติกา
ผู้บัญชาการต้องขออนุมัติจากประธานาธิบดี โดยผ่านรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก่อน หากจะขอกองกำลังสนับสนุนในพื้นที่ เช่น กองกำลังทางบกสหรัฐประจำแปซิฟิก, กองเรือสหรัฐประจำแปซิฟิก, หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐปรจำแปซิฟิก, กองกำลังอากาศสหรัฐประจำแปซิฟิก, กองกำลังสหรัฐประจำญี่ปุ่น, กองกำลังสหรัฐประจำเกาหลี, กองกำลังปฏิบัติการณ์พิเศษเกาหลี, กองกำลังพิเศษภาคพื้นดินแปซิฟิก
กองกำลังนี้ มีกำลังรบ 375,000 นาย ศูนย์ปฏิบัติการณ์ใหญ่อยู่ที่ค่าย เฮช.เอ็ม. สมิตท, ฮาวาย ปฏิบัติการสำคัญของกองกำลังนี้เคยปฏิบัติการสงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม, สงครามกลางเมืองกัมพูชา
ฉากที่สอง วันที่ 2 สิงหาคม 265 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบ ร่างบันทึกความตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการจัดนายทหารติดต่อของกองทัพไทยประจำกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความตกลงฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญให้กระทรวงกลาโหม พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความตกลงฯ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความตกลงฯ ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก มีกำหนดลงนามร่วมกันในร่างบันทึกความตกลงฯ ในเดือนสิงหาคม 2565
สาระสำคัญของเรื่องนี้ สหรัฐอเมริกาได้เสนอร่างบันทึกความตกลงฯ ให้ฝ่ายไทย (กองบัญชาการกองทัพไทย : บก.กองทัพไทย) พิจารณาในการประชุมความร่วมมือทางทหารระหว่างไทย - สหรัฐอเมริกา ระดับฝ่ายเสนาธิการอาวุโส ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 12 - 17 สิงหาคม 2562 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดรายละเอียดในการส่งนายทหารติดต่อของกองทัพไทยไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมพิจารณาปรับแก้ถ้อยคำจนได้ข้อยุติแล้ว
กระทรวงกลาโหม จึงเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการจัดนายทหารติดต่อของกองทัพไทยประจำกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด - แปซิฟิก ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดรายละเอียดในการส่งนายทหารติดต่อของกองทัพไทย
อาจเป็นข้าราชการทหาร หรือ พนักงานพลเรือนของกองทัพไทย ผู้ซึ่งจะได้รับอนุมัติ หรือ การรับรองจากกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา โดยได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงกลาโหมให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน โครงการ หรือ เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลของคู่ภาคี ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด -แปซิฟิก ที่ฮาวาย โดยไม่ผ่านช่องทางปกติคือ ทูตทหาร!
ชัดหรือเบลอครับ!