*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3811 ระหว่างวันที่ 21-24 ส.ค.2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” มาตามนัด” 17 ส.ค.2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ได้ร่วมกันยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อส.ส.ที่ร่วมลงลายมือชื่อ 171 คน ต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสอง และ มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
*** สาระสำคัญในหนังสือที่ยื่น ประกอบไปด้วย ข้อ 1.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ข้อ 2.รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น
ข้อ 3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณีมาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา ข้อ 4.เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ …ภายหลังจากรับหนังสือแล้ว “ประธานรัฐสภา” บอกว่าจะนำไปตรวจสอบคำร้องว่ามีรายชื่อครบถ้วนของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ เป็นไปตามกฎหมายคือ 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.คือ 48 คน หรือไม่ จากนั้นจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้เลย
*** ปมวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ หากประธานรัฐสภาส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และเมื่อศาลมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา จะสั่งให้นายกฯ ยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะหากไม่สั่ง นายกฯ ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่า หลังจากรับเรื่องแล้วจะต้องยุติปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือจะสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัย
*** สถานการณ์การเมืองในระหว่างที่รอ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจิฉัยปมนายกฯ 8 ปี ก็คงจะได้เห็นแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้าม “รัฐบาลบิ๊กตู่” ออกมากดดัน “นายกฯ” ต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เองบ้าง เรียกร้องให้ลาออกจากนายกฯ บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในมือ “บิ๊กตู่” คืออำนาจการ “ยุบสภา”ที่จะงัดออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อแก้เกมการเมือง แต่ล่าสุดนายกฯ ก็ได้มอบหมายให้ ธนากร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ออกมาตอบคำถามแทนแล้วว่า “ไม่มีการยุบสภา เดินหน้าทำงานและจะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่” ...อ่า เมื่อไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ก็ถือเป็นการ “โยนลูก” ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า เมื่อรับปม 8 ปี ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว จะสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากไม่สั่งหยุด ก็คงให้รอการตัดสินวินิจฉัยเลยทีเดียว ที่คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน คงได้รู้กันว่า “บิ๊กตู่” จะได้ไปต่อ หรือ ต้องจบอนาคตทางการเมืองลงเพียงเท่านี้ 24 ส.ค.65 ถือเป็นวันขีดเส้นตาย...
*** ไม่ว่าจะช้า หรือ เร็ว การเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศก็ต้องมาถึงแน่นอน ไม่เกินกลางปี 2566 ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเมอเวนพิค อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับจัดการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีกรรมการ กกต. เลขาธิการกกต. พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 77 จังหวัด เข้าร่วมประชุม โดยประธาน กกต. ได้ระบุว่า สภาฯจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำหวัด ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งในระดับจังหวัดนับว่ามีความสำคัญ ที่จะต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต โปร่งใส และชอบด้วยกฎหมาย นายอิทธิพร บอกถึงการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยว่า แต่ละจังหวัดได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว
*** ไปปิดท้ายกันที่ มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค ได้ยื่นลาออกจากการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดใจถึงสาเหตุการลาออก โดยตอบโต้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ระบุการลาออกไม่เกี่ยวกับกรณีสภาล่ม ว่า ตนเคารพในความแตกต่างของบุคคล แต่ขอยืนยันว่า การที่นายชัยวุฒิ พูดแบบนี้จะนำนิสัยที่คุ้นชินของตัวเองมาตัดสินบุคคลอื่นอาจจะไม่ถูกต้อง “การที่สภาล่มซ้ำซาก เพราะการเล่นเกมการเมือง คิดว่าส.ส.ในสภาก็รับรู้ สื่อก็รับทราบ ที่สำคัญที่สุดประชาชนต่างรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสภา ว่านักการเมืองเล่นเกมการเมือง" ดังนั้น การที่ นายชัยวุฒิ ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าว หมายความว่า นายชัยวุฒิ สามารถยอมรับเกมการเมืองที่ไม่สนใจประโยชน์ประชาชนใช่หรือไม่ ตนไม่รู้บรรทัดฐานการทำงานของท่าน แต่มั่นใจว่าตนมีมาตรฐานสูงกว่านั้น
*** “การเล่นเกมการเมืองโดยไม่สนใจประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ ไม่อยากให้การไม่พอใจสิ่งใด แล้วเลือกที่จะไม่เข้าร่วมประชุม การไปถึงจุดหมายด้วยกติกาที่ผิดๆ จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคม จึงตัดสินใจลาออก เพื่อที่อย่างน้อยการลาออกครั้งนี้ จะเป็นเครื่องบ่งชี้ไปถึงประชาชน และผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” มาดามเดียร์ ระบุ พร้อมกับขอบคุณ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้การต้อนรับด้วยการทาบทามผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ใช่แค่ นายพนิต แต่มีผู้ใหญ่หลายท่านโทรศัพท์มาหาตน รวมถึงติดต่อผ่านคนอื่นๆ เข้ามา “ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ชักชวน และเห็นคุณค่าของตัวเอง แต่เนื่องจากการตัดสินใจลาออกครั้งนี้เกิดขึ้นกะทันหัน จึงขอใช้เวลาไตร่ตรอง และทำภารกิจส่วนตัวก่อน แต่ยืนยันว่าจะขอเดินต่อในเส้นทางการเมืองแน่นอน”