อย่าปลูกฝังวินัยผิด เลิกดอกเบี้ย-เบี้ยปรับกยศ.

17 ก.ย. 2565 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2565 | 08:17 น.

บทบรรณาธิการ

การช่วงชิงคะแนนนิยมทางการเมือง จากกลุ่มคนวัยการศึกษาและจบใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกด้วยการสนับสนุน ผ่านการแก้ร่างกฎหมายกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ.ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยไม่คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ อาจเป็นการปลูกฝังวินัยทางการเงินและค่านิยมการใช้เงินที่ไม่ถูกต้องให้กับกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ต้นมือ และอาจกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี ในระยะยาว โดยเด็กจบใหม่เข้าสู่วัยทำงาน อาจเฉยชา ขาดความกระตือรือร้นกับภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบ


สถานะกองทุนล่าสุด ตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนในปี 2538 กองทุนใช้เงินงบประมาณสำหรับให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3 พันล้านบาท โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ขณะนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี มีเงินหมุนเวียนแล้ว 4 แสนล้านบาท ปล่อยกู้กว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน มีผู้ปิดบัญชีการชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยมียอดผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท 

ระยะหลังรัฐบาลไม่ใส่งบประมาณแผ่นดินลงในเงินกองทุน แต่ใช้วิธีบริหารโดยใช้เงินประเดิมที่รัฐบาลตั้งให้และนำเงินคืนจากผู้กู้และเบี้ยปรับ ตกประมาณปีละ 4 หมื่นล้านมาใช้ปล่อยกู้ต่อให้กับนักศึกษา หากการแก้ฎหมายได้รับความเห็นชอบประกาศใช้ อาจส่งผลกระทบในแง่เงินหมุนเวียนในการปล่อยกู้ต่อรุ่นหลังๆ กรณีที่มีการชำระหนี้ล่าช้า หรือไม่สนใจชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้รายได้กองทุนจะหดหายลงไปเรื่อยๆ กระทบกับสภาพคล่องของกองทุน


กระทรวงการคลังคาดการณ์ หากมีความต้องการกู้ยืมมากขึ้น ขณะที่รายได้ไม่เข้ามาเพิ่ม จากการไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จำต้องใช้เงินก้อนเดิมที่เป็นเงินต้นมาใช้หมุนเวียน เป็นภาระกองทุน หากไม่มีเงินหมุนกลับมา และเป็นห่วงจะไม่มีวินัยในการชำระหนี้ ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งอันที่จริงรัฐบาลก็ไม่ได้คำนึงถึงดอกเบี้ยเพื่อแสวงหากำไรอยู่แล้ว แต่เบี้ยปรับเป็นเรื่องของวินัยในการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี การไม่คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ด้านหนึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้นก็เป็นได้ หากคิดในมุมกลับกันในทางที่ดี แต่อาจมีความเป็นไปได้น้อย สถานการณ์จะกลับกลายให้เป็นเฉื่อยชาในการชำระหนี้หรือล่าช้าออกไปมากกว่า


ฉะนั้น การผ่านร่างแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. ครั้งนี้ อาจเป็นการคิดและข้อเสนอที่ขาดความถี่ถ้วนของนักการเมือง ซึ่งยังสามารถทบทวนได้ทัน ในขั้นตอนของการพิจารณาของวุฒิสภา เพิ่มมุมมองผลกระทบอย่างรอบด้านมากขึ้นในการพิจารณาและคำนึงถึงผลระยะยาวในการขับเคลื่อนประเทศชาติด้วย