เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่ออกมาจากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะทําให้คนต่างด้าวได้สิทธิ์ซื้อบ้านและที่ดินไม่เกิน 1 ไร่แลกกับการนําเงินไม่ตํ่ากว่า 40 ล้านบาท มาลงทุนในไทย เช่น นํามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่น้อยกว่า 3 ปีซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการนําเอาร่างเก่าสมัยรัฐบาลทักษิณมาปัดฝุ่น และปรับเพิ่มลดบางอย่างเข้าไปใหม่
แต่หลังจากมีข่าวนี้ออกมา รัฐบาลก็โดนสังคมโจมตีมาก ถึงขนาดหาว่าเป็นรัฐบาลขายชาติจนในที่สุดมีข่าวจากทางรัฐบาลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการถอนเรื่องที่ได้เห็นชอบไป หรือก็คือยุติไว้ก่อน
หากดูย้อนหลังการเสนอเรื่องนี้ไปให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่างกรรมต่างวาระ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งได้เคยนําเรื่องมาตรการนี้เสนอครม. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 แล้วเรื่องก็เงียบหายไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงแนวความคิดของคนของรัฐที่พยายามคิดค้นเรื่องนี้ออกมาเสนอ ผมว่ามีแนวคิดที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้น เห็นด้วยที่ว่าในภาวะเศรษฐกิจเลวร้าย เราควรหาทางให้ต่างชาติที่มีทุนรอนมาลงทุนในประเทศไทย มาลงทุนร่วมกับคนไทย ซึ่งประเทศไทยก็มีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้มามากมายแล้ว ส่วนการที่จะทํามาตรการอีกชุดมาจูงใจให้ชาวต่างประเทศที่รํ่ารวยมาลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารการลงทุนต่างๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้นักลงทุนต่างประเทศก็ขนเงินมาลงทุนในประเทศไทยมากถึงปีละเป็นหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว เป็นปกติและมีการขยายตัวมากขึ้นตามกาลเวลาด้วย
แนวคิดที่จะทําตามมาตรการนี้ดูเหมือนผู้คิดและผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่คิดไม่รู้จริงๆว่าผู้มีศักยภาพทางการเงินสูงชาวต่างประเทศนั้น เขามีแนวทางการลงทุนในเรื่องทํานองนี้กันอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยดึงดูดให้เขามาใช้จ่ายเงินในต่างประเทศที่กําลังพัฒนากันบ้าง ปัจจัยที่จูงใจให้เขามาลงทุนซื้อบ้านซื้อที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยเป็นบ้านแห่งที่สอง หรือเพื่ออยู่ระยะยาวหรืออย่างถาวร
แม้ว่าเขาเองไม่มีสิทธิ์จะครอบครองโดยสมบูรณ์ได้แต่กลับต้องใช้นอมินีเขาก็ยอมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผู้คิดโครงการนี้ของรัฐได้สําเหนียกกันเลยก็ว่าได้ชาวต่างประเทศที่นําเงินมาซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมในเมืองไทยมีมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วการที่เขานําเงินมาลงทุนมันเกิดจากความชอบหรือหลงใหลในวัฒนธรรม ภูมิอากาศ ธรรมชาติอาหารไทยสังคมไทย และคนไทย เหล่านี้มากกว่า
หากผู้คิดโครงการจูงใจนักลงทุนต่างชาติผู้มีศักยภาพทางการเงินได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังเมื่อใด ก็จะรู้ได้เองว่าสิ่งที่ท่านอุตส่าห์คิดขึ้นมานั้นมันจะไม่เกิด จะไม่มีชาวต่างชาติที่มีศักยภาพทางการเงินปัญญานิ่มมาหลงใหลกับสิ่งจูงใจที่ท่านคิดนํามาล่อหรอกครับ สื่อสังคมจึงเรียกกันว่าเป็นการขายชาติไงละ
ผมอยากจะแนะให้ทําในเรื่องง่ายๆ หากรัฐบาลต้องการจะขจัดนอมินีที่มีมากมายในประเทศนี้และอยากจะหาเงินลงทุนจากชาวต่างชาติเพื่อกระตุ้นกําลังซื้อด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ วิธีง่ายๆ ก็คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติอาคารชุดที่ใช้อยู่ให้ชาวต่างชาติมีสิทธิ์ถือครองได้ 65% ไม่ใช่ 50% ที่เป็นอยู่แต่เพิ่มเงื่อนไขเข้าไปว่าเมื่ออาคารชุดรายใดยอมขายให้ต่างชาติถือครองเกิน 50% ก็ให้ชาวต่างชาติทุกคนที่เป็นเจ้าของสามารถใช้สิทธิ์ออกเสียงเพียง 50% เท่านั้น เรื่องนี้ทําได้ทั้งประเทศเลยครับ
พูดถึงคนในภาครัฐมาแล้ว ก็อยากจะพูดถึงคนในภาคเอกชนของไทยบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกมากที่เรื่องทั้งสองนี้เกิดขึ้นมาในช่วงใกล้ๆ กันมาก คือปลายตุลาคม แล้วก็ต้นพฤศจิกายน 2565 นี้
เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ผมได้อ่านข่าวที่ออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กําลังจะเสนอเรื่องที่ได้ประชุมใน กกร. มาสดๆ ให้รัฐบาลแก้อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สําคัญได้แก่การแก้ไขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างพัฒนาหรือสร้างเสร็จแต่ยังไม่ได้ขายจากประเภทอื่นๆ มาเป็นประเภทที่อยู่อาศัย (ซึ่งอัตราจะตํ่ากว่า) อีกข้อก็ให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไปอีกถึงปี 2567
โดยให้จัดเก็บเป็นขั้นบันได โดยปี 2566 ลดหย่อน 75% และปี 2567 ลดหย่อน 50% รวมทั้งให้ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มและดอกเบี้ยสําหรับผู้ค้างชําระในปี 2565 โดยให้ผ่อนชําระในปี 2566 ข่าวนี้ก็แค่ชงออกมาสู่สาธารณะนะครับ แต่ถ้ามีการนําเสนอจริงก็จะน่าสังเวชเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการขอลดให้คนมีเงินและมีที่ดินถือครองไว้เก็งกําไรมากมายทั้งนั้น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กกร.ที่ผ่านๆ มาทุกยุคก็ไม่เคยคิดจะเสนออะไรแบบนี้
ที่จริง พรบ. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้มีการบัญญัติเรื่องบรรเทาภาระภาษีไว้แล้ว เช่นมีการยกเว้นไม่เก็บภาษีสําหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการประกอบเกษตรกรรมตั้งแต่ปี 2563 - 2565 มีการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี 50 ล้านบาท สําหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมในเขตองค์กรปกครองท้องถิ่น
ซึ่งข้อนี้สรุปได้ว่าเกษตรกรที่เป็นเจ้าของมีฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีนอกจากนี้ที่สําคัญยังมีการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี 50 ล้านบาท สําหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลที่เป็นเจ้าของใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี 10 ล้านบาท ของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคนอื่นที่เจ้าของใช้เป็นที่อยู่อาศัย ตามนี้จะเห็นได้ชัดว่าภาษีนี้ไม่ได้เก็บจากเกษตรกรรม และประชาชนระดับล่าง และระดับกลางที่มีบ้านและที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว
ผมเองรับราชการมาจนเกษียณมานานแล้ว ไม่เคยเห็นฝ่ายเอกชนจะกล้ามาขอให้รัฐบาลทําอะไร พิลึกกึกกือเกี่ยวกับเรื่องภาษีแบบนี้เลย ที่ว่าพิลึกกึกกือก็เพราะก่อนจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มพิกัด รัฐบาลได้เลื่อนให้ล่าช้ามาแล้วร่วมสองปีนี่ไม่นับการเตะถ่วงภาษีนี้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นานถึงร่วม 4 ปีจนดูเหมือนว่ารัฐบาลก็ไม่อยากให้ภาษีนี้ออกมา หรืออาจเกรงว่าจะทําให้พรรคพวกที่รํ่ารวยไม่ชอบ
พอกฎหมายถึงกําหนดบังคับใช้ในปีแรกรัฐบาลก็เก็บเพียง 10% ของอัตราที่ได้กําหนด คือ รัฐบาลได้ช่วยผ่อนคลายให้เอกชนมาเต็มที่ นี่ก็ได้ประกาศใช้พรบ. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเต็มรูปแบบ กว่า 1 ปีแล้ว กลับจะมีการขอจาก กกร. ให้รัฐบาลกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีก ผมต้องขอบอกว่าประเทศไทย เรานั้นกําลังจะเข้าสู่จุดสิ้นชาติกันแล้ว
ถ้าเป็นคนจน กลุ่มชาวไร่ชาวนา มาขอร้องแบบนี้ก็พอรับได้แต่นี้เป็น กกร. ซึ่งประกอบด้วย สมาคมใหญ่ๆ ทางธุรกิจถึง 3 สมาคม ไม่มีใครคิดถึงประเทศชาติบ้างหรือไร ประเทศจะอยู่ได้อย่างไรถ้าประชาชนระดับนักธุรกิจใหญ่ๆ ไม่คิดที่จะเสียภาษีให้ประเทศ ผมพยายามคิดในแง่ที่ดีเช่น คิดว่าผู้นํารัฐบาลนี้ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย ไม่เคยสนใจคิดทําอะไรเกี่ยวกับเรื่องภาษีให้ดีกว่านี้และขณะนี้ผู้นํากําลังอ่อนแอ เป็นช่วงที่ต้องหาคะแนนนิยมอย่างสุดขั้วเพื่ออยู่ในอํานาจต่อ ภาคเอกชนก็เลยถือโอกาสเสนอให้ปรับลดภาษีตามข่าวที่ออกมา
พี่น้องคนไทยทั้งหลายพอจะมองเห็นหรือยังว่า เมื่อบ้านเมืองมีประชาธิปไตยไม่เต็มใบ มีรัฐบาลที่รายล้อมด้วยพ่อค้านักธุรกิจตัวใหญ่เป็นหลักร่วมดูแลบ้านเมือง แล้วเราท่านก็จะได้เห็นเรื่องแบบนี้แม้ไม่ถึงกับได้ประกาศออกมาใช้แต่แค่โผล่มาให้เห็นเจตนาอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อยู่แล้ว