พี่น้องชาวมิจีน่าในไต้หวัน

27 พ.ย. 2565 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2565 | 21:54 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปทำธุรกิจที่ไทเป ไต้หวัน ซึ่งผมได้ห่างเหินมานานกว่าสามปีแล้ว เนื่องจากเกิดโรคระบาดโควิด ทำให้ต้องหยุดการเดินทางไปค่อนข้างจะยาวนาน ในขณะที่เมื่อประเทศไทยเราเปิดประเทศ ผมก็เฝ้ารอคอยให้ไต้หวันเปิดประเทศบ้าง 


ช่วงแรกเขาเริ่มเปิดด้วยการใช้นโยบายเปิด 0+7 หมายความว่าไม่มีการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่พอเข้าสู่แผ่นดินไต้หวันแล้ว ต้องมีการกักตัวที่บ้าน 7 วัน ในช่วงนั้นผมเองก็ยังลังเล ไม่กล้าที่จะเดินทางไปที่นั่น จนกระทั่งมาระยะหลังเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ก็ไม่กำหนดให้กักตัวแล้ว ผมจึงได้เดินทางมา เพื่อติดต่อธุรกิจที่นี่ได้อีกครั้งครับ
       

มาไต้หวันครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีมากที่ทำให้ผมได้พบปะเพื่อนฝูงมากมาย มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นประธานสมาคมศิษย์เก่านักเรียนแม่สะลอง ได้โทรมาถามผมว่า สนใจอยากไปร่วมงานสังสรรค์ชมรมศิษย์เก่ามิจีน่าหรือไม่? ผมจึงไม่ลังเลที่จะตอบรับ ทำให้ได้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองประจำปีของเขาครับ 

เมื่อไปถึงสถานที่จัดงาน ผมเองก็ไม่คาดคิดว่าจะมีพี่น้องชาวมิจีน่า ที่เป็นเมืองเอกของรัฐกระฉิ่น จะมีสมาชิกเยอะขนาดนี้ครับ เพราะมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกันมามากถึง 50 โต๊ะ โดยเป็นกลุ่มชมรมของชาวจีนยูนนาน ที่มีอยู่ในไต้หวัน ประมาณ 5-6 ชมรมด้วยกัน 


มีทั้งที่มาชมรมของศิษย์เก่าของนักเรียนที่มาจากประเทศเมียนมาหลายชมรม และที่มาจากประเทศไทยก็มีอยู่ประมาณ 2-3 ชมรมด้วยกัน คือศิษย์เก่าแม่สะลอง ศิษย์เก่าบ้านเทอดไทยและศิษย์เก่าบ้านถ้ำปุ่มถ้ำปลา อำเภอแม่สาย แต่ศิษย์เก่าที่มาจากประเทศเมียนมา มากันจากโรงเรียนยี่เฉิน เมืองมิจีน่าเป็นหลัก และอีก 2 แห่ง ก็มีจากเมืองลาซิล และเมืองตองจี 
     

กลุ่มศิษย์เก่าจากประเทศเมียนมานี้ เขาได้โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ไต้หวันเป็นการถาวรมาแล้วนานหลายสิบปี ซึ่งจะมีงานเลี้ยงลักษณะเช่นนี้อยู่เป็นประจำทุกปี ต้องยอมรับว่า รัฐบาลไต้หวันเองก็ให้ความสำคัญต่อกลุ่มชนชาวเมียนมา ที่ได้ย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ไม่น้อย เห็นได้จากในงานนี้ ได้มีทั้งนักการเมืองและข้าราชการมาร่วมงานด้วยหลายท่าน และมีการถูกเชิญขึ้นเวทีไปกล่าวคำปราศัยด้วย

 

กลุ่มชนชาวเมียนมาส่วนใหญ่จะเป็นชาวเมียนมาเชื้อสายจีนยูนนานกันเป็นส่วนใหญ่ครับ เพราะเข้าไปในงาน ก็จะพูดคุยกันด้วยภาษายูนนานกันสนุกสนาน และยังมีการนำเอาอาหารยูนนาน เช่น ข้าวแลงฟืน ผักกาดดองยูนนานมากันเองเกือบทุกโต๊ะ ที่น่าสนใจคือมีการนำเอาส้มตำไทยและแคบหมูมาเสิร์ฟด้วย ผมจึงถามน้องที่พาไปร่วมงานว่า ทางโรงแรมเขามีการเสิร์ฟส้มตำด้วยเหรอ น้องเขาบอกว่า ไม่ใช่ของโรงแรม แต่เป็นของสมาชิกชมรมศิษย์เก่ามิจีน่าท่านหนึ่ง ที่เป็นเจ้าของร้านอาหารไทย เขาเอามาให้เพื่อนๆ ทานกัน
       

ในงานนอกจากจะเป็นการเลี้ยงสังสรรค์กันแล้ว เขายังมีการแสดงฟ้อนรำของชนชาติพันธุ์เผ่าลีซอ ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์ที่อยู่ในรัฐกระฉิ่น แสดงโดยกลุ่มสมาชิกของศิษย์เก่ามิจีน่ามาแสดงด้วย เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจสวยงามดีมากครับ 


ผมได้มีโอกาสรู้จักกับหัวหน้าคณะของเขา เขาเล่าว่า กลุ่มนักแสดงกลุ่มนี้ มีความสามารถในการฟ้อนรำการแสดงของชนชาติพันธุ์ในรัฐกระฉิ่นหลากหลายเผ่าพันธุ์มาก ส่วนใหญ่เขามักจะได้รับเชิญจากหน่วยงานภาครัฐไต้หวัน ให้ไปแสดงโชว์ในที่ต่างๆ รวมทั้งยังได้รับเชิญให้ไปแสดงโชว์ที่ต่างประเทศด้วย เช่น ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น 


นักแสดงทั้งหมดล้วนมาจากศิษย์เก่าโรงเรียนยี่เฉิน เมืองมิจีน่า ยังมีกรรมการของทางชมรมนี้อีกท่านหนึ่ง ท่านเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ อยู่ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในไทเป ท่านเล่าว่า ท่านเรียนจบมาทางด้านนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หลังจากเรียนจบจากที่นั่น ท่านไม่สามารถประกอบอาชีพทนายความได้ เพราะท่านไม่มีเชื้อชาติพม่า ท่านจึงต้องเดินทางออกมาที่ไต้หวัน และสมัครเข้าเรียนต่อที่นี่ 


โดยเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยไต้หวัน หลังจากจบมาจึงได้ยึดเอาวิชานี้ มาเป็นการประกอบอาชีพต่อเลย นอกจากนี้ท่านยังรับสอนภาษาเมียนมาให้แก่นักเรียนประถมอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ที่ไต้หวัน โรงเรียนประถมเกือบทุกแห่ง ต้องบังคับให้เด็กนักเรียนประถมเลือกเรียนวิชาภาษาต่างประเทศเพิ่มอีกหนึ่งภาษา 

 

ดังนั้นวิชาภาษาไทย ภาษาเมียนมา ภาษาเวียดนาม จึงเป็นที่ต้องการของนักเรียนประถมเป็นอย่างยิ่ง ผมเองก็เพิ่งจะทราบถึงข้อมูลนี้ ซึ่งน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากเราจะฉวยโอกาสส่งครูภาษาไทยเข้ามา เพื่อส่งเสริมให้แก่นักเรียนของเขาด้วยนะครับ จะได้กระจายความรู้ด้านภาษาไทยให้แก่เด็กๆ ที่เป็นอนาคตของเขา ในอนาคตอาจจะได้เห็นชาวไต้หวันเข้ามาลงทุนที่ประเทศเรามากขึ้นก็ได้ครับ
    

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในวันนี้ คือความรักสามัคคีในกลุ่มศิษย์เก่าของประเทศเมียนมา ที่เขารวมตัวกันได้ดีมาก อีกทั้งมีกิจกรรมส่งเสริมให้แก่ชาวเมียนมาโพ้นทะเลได้อย่างยอดเยี่ยมน่าชมเชยจริงๆ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีเงินงบประมาณในด้านนี้จากภาครัฐบาลของเขาเลย 


ผมจึงสอบถามจากเพื่อนในกลุ่มนี้ เขาเล่าว่า เงินสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากกลุ่มทุนในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มศิษย์เก่าจากมิจีน่า เพราะที่นั่นนายทุนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการเหมืองหยก ดังนั้นเขาจึงสามารถมีเงินทุนสนับสนุนทางด้านนี้มากนั่นเอง 


อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าแม้จะมีเงินทุนสนับสนุน ถ้าไม่มีการให้ความร่วมมือกันระหว่างศิษย์เก่าของแต่ละแห่ง ก็ไม่สามารถที่จะรวมตัวกันได้เช่นกัน ดังนั้นกลุ่มศิษย์เก่าจากโรงเรียนจีนในประเทศไทย ที่มาทำมาหากินที่นี่ ควรจะต้องรู้รักสามัคคีกัน เพื่อสร้างความช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน 


อย่าลืมว่า สักวันหนึ่งเราอาจจะต้องกลับมาบ้านเกิดเราในประเทศไทย เราจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป รัฐบาลไทยเราเอง ถ้าจะมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมประเภทนี้ให้แก่กลุ่มชมรมหรือสมาคมต่างๆ ในต่างแดนด้วย ก็จะเป็นการดีมากทีเดียวครับ