ศูนย์ฝึกอบรมแรงงานในเมียนมา

12 ก.พ. 2566 | 21:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากที่ผมเขียนเรื่องแรงงานเมียนมาลงไปในคอลัมน์นี้ ก็มีแฟนคลับที่เป็นทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาได้ส่งคอมเม้นต์มาให้เยอะพอสมควรครับ ที่น่าสนใจคือมีชาวเมียนมาที่เขาได้ดำเนินธุรกิจนี้อยู่ ด้วยการจัดทำศูนย์ฝึกอบรมอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ได้ส่งจดหมายเชิญผมไปเยี่ยมชมศูนย์ของเขา 

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีธุระที่จะต้องเดินทางไปกรุงย่างกุ้งพอดี เลยได้ตอบรับว่าจะไปเยี่ยมชมเขา ผมจึงได้ชักชวนคุณนิพนธ์ ผู้ที่ทำธุรกิจนำเข้าแรงงานเมียนมามายังประเทศไทย ให้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน พอทราบชื่อของศูนย์และชื่อเจ้าของศูนย์นี้ คุณนิพนธ์ก็คุ้นเคยกับเขาเป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้เขาก็ใช้บริการของศูนย์นี้ ในการจัดส่งแรงงานมายังประเทศไทยอยู่แล้ว จึงเป็นผู้ประสานงานให้ผมได้ไปเยี่ยมชมครับ
      
วันที่ผมเดินทางไปถึงที่นั่น ตัวคุณนิพนธ์เองที่สนิทชิดเชื้อกับเจ้าของศูนย์ที่ชื่อว่า Mr. Mor Tun Khine จึงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้ข้อมูลว่าที่นั่นเขาไม่เพียงฝึกอบรมแรงงานเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ประกอบการไทยเท่านั้น เขายังอบรมให้แรงงานที่ต้องการไปทำงานยังประเทศต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่นที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน เพราะเขาได้รับคำสั่งต้องการแรงงานมาจากหลากหลายบริษัท ที่จัดหาตำแหน่งงานมาป้อนให้ ซึ่งน่าสนใจมากครับ
     

หากยังจำกันได้ เราจะย้อนอดีตกลับไปสักสามสิบปีก่อน ประเทศไทยเราเอง ก็เคยเป็นแหล่งทรัพยากรแรงงานให้กับต่างประเทศมาแล้ว เช่นที่ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ในยุคนั้นเป็นที่เฟื่องฟูสำหรับตำแหน่งงาน ที่ทำให้เราได้รับเงินทองไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยเราอย่างเป็นล่ำเป็นสัน 

เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจจะได้ยินแต่เพียงเป็นตำนานเล่าขานเท่านั้น ในยุคนั้นแรงงานไทยโดยเฉพาะแรงงานจากภาคอิสานบ้านผม นิยมดิ้นรนเดินทางไปทำงานกันที่นั่นเยอะมาก ถ้ายังจำกันได้ บางคนถึงกับขายไร่-ขายนา เพื่อหาเงินมาเป็นค่านายหน้า เพื่อเดินทางไปทำงานกัน ถึงกับมีตำนาน “ตอนไปเสียนา ตอนกลับมาเสียเมีย” กันเลยทีเดียว ต่อมาก็มีปัญหาอุ้มฆ่านักการทูตซาอุฯ จนทำให้ประเทศเราหมดหนทางในการส่งแรงงานในตำนานไปเลย ก็เป็นที่น่าเสียดายนะครับ
       
ต่อมาเมื่อสักประมาณสิบปีที่ผ่านมานี้ ตลาดแรงงานไทยเราที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป เริ่มมีแหล่งงานในไต้หวันเกิดขึ้นมาทดแทนตะวันออกกลาง แต่ค่าแรงของไต้หวันในปัจจุบันนี้ อาจจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับในอดีตได้ แต่ก็สามารถสร้างงานได้เยอะครับ

อีกทั้งยังสร้างธุรกิจต่อเนื่องได้อีก เช่น ธุรกิจของนายหน้าแรงงาน ที่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในประเทศไทย ก็มีการจัดส่งแรงงานจากภาคเอกชนไปทำงานยังที่ไต้หวันกันเยอะ เพื่อนฝูงผมที่พูด-อ่าน-เขียนภาษาจีนกันได้ดี ก็กระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้หลายคนเหมือนกัน ซึ่งต่อมาเกือบทุกคนก็สร้างฐานะขึ้นมา จากการจัดส่งแรงงานไปไต้หวันนี่แหละครับ ตัวผมเองไม่ได้นิยมชมชอบกับธุรกิจนี้ จึงไม่ได้เข้าไปทำกับเขา ก็ได้แต่มองดูเพื่อนๆ เขาทำกันครับ 
      

ในส่วนของแรงงานไทยเรา ก็ได้มีการเข้ามาช่วยจัดการจากกระทรวงแรงงานของประเทศไทยเรา ซึ่งค่อนข้างจะมีระบบการดูแลแรงงานอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองความสามารถของแรงงาน การส่งเสริมให้แรงงานมีพื้นฐานและขีดความสามารถต่องานที่ตนเองถนัด อีกทั้งยังควบคุมดูแลผู้ประกอบการด้านจัดส่งแรงงาน และสวัสดิการของแรงงานอย่างยอดเยี่ยมเป็นต้น 

ทำให้แรงงานไทยเราเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศครับ หลายท่านอาจจะมองว่า เม็ดเงินค่าแรงที่ตกถึงมือของแรงงานนั้น มีไม่มากนัก แต่ทำไมรัฐบาลจึงต้องกระโดดเข้ามาช่วยด้วยละ? ต้องพูดว่าเงินที่ถูกโอนเข้ามาจากต่างประเทศที่เป็นค่าแรงของแรงงานนั้น จะถูกนำไปบันทึกไว้ที่ “บัญชีรายได้สุทธิจากต่างประเทศ” ซึ่งเป็นขาหนึ่งในสามขาของ “บัญชีเงินเดินสะพัด” ที่ประกอบด้วย บัญชีดุลการค้าและบริการ บัญชีเงินโอน และบัญชีรายได้สุทธิจากต่างประเทศครับ โดยจะส่งผลไปสู่การขยายตัวของ GDP นั่นแหละครับ 
      
หากมองไปยังประเทศเมียนมาในปัจจุบันนี้ การถูกแทรกแซงจากต่างประเทศ ทำให้การค้าและการลงทุนในประเทศเขามีปัญหาหนักมาก นักลงทุนจากต่างประเทศก็ไม่กล้าเข้าไปลงทุนในเมียนมา ทำให้การจ้างงานก็ไม่มี การค้าก็ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้สะดวก เพราะจะมีแต่เพียงประเทศที่ยอมรับเขาเท่านั้น ที่ยังสามารถทำการค้ากับเขาได้  

ส่วนประเทศทางฟากฝั่งตะวันตกหลายประเทศ ก็งดดำเนินธุรกรรมทางการค้ากับเขา การส่งออกสินค้าที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ทั้งใต้ดินและบนดินก่อนหน้านี้ ที่มีมูลค่ามากหน่อยก็จะเป็นที่อยู่ใต้ดินก็ส่งออกลำบาก เพราะตลาดลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐเซียและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนประเทศตะวันตก ก็ไม่มีโอกาสทำการค้ากับเขามากนัก เพราะถูกแซงชั่นไปเรียบร้อย 
       
ด้านสินค้าที่เป็นทรัพยากรที่อยู่บนดิน ก็เป็นสินค้าที่เป็นเกษตรพื้นฐานเป็นหลัก มูลค่าสินค้าจึงมีแค่กระจิดเดียว ดังนั้นก็ต้องหวังพึ่งตลาดแรงงานนี่แหละครับ ที่พอจะเป็นหน้าเป็นตาได้ เพราะการเคลื่อนย้ายของแรงงานหรือมนุษย์ มันไม่มีขีดจำกัด เพราะมนุษย์มีมือมีเท้า ที่จะเดินเหินไปไหนมานี่ได้ จำกัดเขายากหน่อย แต่เสียดายที่รัฐบาลเมียนมาเอง กระทรวงแรงงานเขายังไม่เข้มแข็งเหมือนประเทศไทยเรา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพึ่งพาตนเองไปก่อนนะครับ
       
ที่ผมไปเห็นและได้ไปนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ประกอบการเขามานั้น จึงทราบว่าเขาก็มีออเดอร์แรงงาน มากพอสมควรเลยครับ โดยเฉพาะที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ยังต้องการแรงงานฝีมือจากเขาเยอะมาก โดยเฉพาะช่างเชื่อมโลหะ เขามีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ช่างเชื่อมที่ดีมากๆ อีกทั้งค่าแรงของเกาหลีใต้นั้น สูงกว่าไทยเรามาก 

ส่วนแรงงานที่ไร้ฝีมือหรือแรงงานทั่วไป เขาก็มีการจัดส่งให้ เดือนละประมาณห้าพันคนได้อย่างสบายๆไม่มีปัญหา อีกทั้งยังสามารถฝึกปรือแรงงานให้ตามความต้องการของผู้ประกอบการได้ด้วย ก็น่าสนใจดีมากครับ เราคงไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีแรงงานเมียนมาในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน ถ้าเรายังต้องการได้แรงงานเหล่านี้มาทำงานที่ไทยเราครับ