ชาวนาอีสานช้ำหนักราคาข้าวเปลือกตกวูบวอนรัฐบาลช่วยเหลือด่วน

26 ต.ค. 2559 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2559 | 15:12 น.
ชาวนาภาคอีสานช้ำหนัก หลังภัยแล้งพ่นพิษได้ผลผลิตน้อย เปิดฤดูเก็บเกี่ยวเจอราคาข้าวเปลือกตกวูบ 5-6.50 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนพุ่งสูง แถมโดนพ่อค้าคนกลางกดราคา วอนรัฐบาลปรับขึ้นราคาช่วยเหลือด่วน

นางหนูเพียร ช่างการนอก ตัวแทนชาวนาตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอใกล้เคียงกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำลงมากจากปี 2558  ซึ่งราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 9-10 บาท แต่ช่วงเปิดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวปี 2559 นี้ ชาวนาในพื้นที่ขายข้าวเปลือก กข15 ได้ราคาเพียง 5-6.50  บาท/กิโลกรัมเท่านั้น ทั้งยังถูกพ่อคนกลางกดราคารับซื้อด้วย ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าเตรียมดิน ค่าปุ๋ย ค่ารถเกี่ยวข้าว ยังไม่รวมค่าแรงงานกำจัดวัชพืช และปีนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ได้ผลผลิตข้าวลดน้อยลง จึงอยากวอนขอรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงขึ้น อย่างน้อยก็เท่ากับปีที่ผ่านมา หรือมีมาตรการกำหนดราคารับซื้อที่เป็นธรรม เพื่อให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากและอยู่รอดได้

ช่วงเปิดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวปีนี้ พ่อค้าคนกลางในพื้นที่หลายรายปฏิเสธการรับซื้อ ทำให้เกษตรกรต้องขนข้าวเปลือกวิ่งรอกหาตลาด บางส่วนขนข้าวไปขายให้พ่อค้าต่างอำเภอเพื่อหวังจะได้ราคาสูงขึ้น เช่น อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ แต่พ่อค้าก็กำหนดราคารับซื้อไล่เลี่ยกัน คือ 5-6 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องตัดใจขายเพราะต้องการนำเงินมาจุนเจือครอบครัว  พร้อมจ่ายค่าไถนา ค่าเกี่ยวข้าว และจ่ายค่าปุ๋ยที่ติดค้างไว้ มีส่วนน้อยนำข้าวเปลือกกลับมาตากเก็บไว้เพื่อรอราคาขยับตัวเพิ่มขึ้นค่อยนำออกมาขาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559 นี้ คาดว่า เกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวหอมมะลิป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และคาดว่าราคาข้าวเปลือกจะตกต่ำลงอีก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือปรับขึ้นราคาข้าวจากรัฐบาล ชาวนาจะเดือดร้อนอย่างหนักและต้องแบกรับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงมาก เช่น ค่าไถนาเตรียมดินปลูกข้าวไร่ละ 250 บาท ค่าปุ๋ยตันละ 14,000-16,000 บาท  ค่ารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 450-500 บาท  เป็นต้น ถ้าราคาข้าวเปลือกยังไม่กระเตื้องขึ้นคงอยู่กันไม่รอด หากจะให้ชาวนามีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ขอวอนให้รัฐบาลเห็นใจและพิจารณาปรับขึ้นราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นอย่างเหมาะสมโดยเร็ว ควรให้อยู่ได้กันทั้งระบบตั้งแต่เกษตรกร ผู้รับซื้อข้าวเปลือก โรงสีข้าว ผู้ขายข้าวสาร และผู้ส่งออก แต่ปัจจุบันดูจากราคาข้าวสารในท้องตลาดแล้วนับว่าแพงมาก กิโลกรัมละ 35-50 บาท เมื่อมองกลับมาดูราคาข้าวเปลือกถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับชาวนา” นางหนูเพียรกล่าว