ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) สินค้านม และครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนย ภาษีนำเข้าจะเป็นศูนย์ มีผู้ประกอบการ 90 ราย ขอนำเข้านมผงรวม 9.1 หมื่นตัน ล่าสุด (17 ธ.ค.67) คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ให้กรมปศุสัตว์ไปหามาตรการป้องกันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่จะได้รับผลกระทบ และนำเสนอในวันที่ 24 ธันวาคมนี้
นายอาทิตย์ นุกูลกิจ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (สอนท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การนำเข้านมผงขาดมันเนย ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยปกติมีการนำเข้าใน 3 กรอบ ได้แก่ 1.ภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปริมาณ 55,000 ตันต่อปี 2. FTAไทย-ออสเตรเลีย และ 3.FTA ไทย-นิวซีแลนด์ รวม 3,000 ตันต่อปี รวมทั้ง 3 กรอบ 58,000 ตันต่อปี ซึ่งในบางปีอาจนำเข้ามากหรือน้อยกว่านี้ แต่โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดังกล่าว
ขณะเดียวกันยังมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีการนำเข้านมผงขาดมันเนย ซึ่งไม่ได้ซื้อนํ้านมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว รวมมูลค่าธุรกิจเป็นแสนล้าน อาทิ อุตสาหกรรมไอศรีม มูลค่าตลาดในประเทศและส่งออกกว่า 2 หมื่นล้านบาท เบเกอรี่ มูลค่าตลาด 47,336 ล้านบาท และนมเปรี้ยว มูลค่าตลาดกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ซึ่งหากการนำเข้านมผงขาดมันเนยสะดุด ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะในการทำธุรกิจจะมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องแยกส่วนกัน ไม่ใช่เอานมผงมาเป็นตัวประกัน
“ตัวเลข 9.1 หมื่นตัน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยื่นขอ แต่ยังไม่ใช่ตัวเลขการนำเข้าจริง และไม่มีใครตอบได้ว่าจะสามารถนำเข้าจริงได้เท่าไร ดังนั้นในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการเรียนรู้ ว่านํ้านมดิบจะล้นตลาดหรือไม่ หลังมีการเปิดเสรีนำเข้าผลิตภัณฑ์นมภายใต้ FTA และหากนมล้นตลาดจะกำกับดูแลอย่างไร”
อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงผู้ประกอบการนมได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การซื้อขายนํ้านมโค ปี 2567/2568 กับเกษตรกรไว้แล้ว ปริมาณรวม 2,843.310 ตัน/วัน จาก MOU จำนวน 408 คู่ กำกับดูแลโดยมิลค์บอร์ด หากใครไม่ซื้อตามเอ็มโอยู เกษตรกรก็สามารถแจ้งได้ ยกตัวอย่าง บริษัท A ทำสัญญาจะซื้อนํ้านมดิบ 100 ตัน อีกด้านจะมีการนำเข้านมผง เช่น รับซื้อนํ้านมดิบจากเกษตรกร 80 ตัน อีก 20 ตันไม่รับซื้อจะใช้นมผง ก็สามารถส่งเรื่องไปที่มิลค์บอร์ดเพื่อพิจารณาลงโทษได้ เช่น จะตัดโควตาการนำเข้า หรือยกเลิกการนำเข้านมผงในปีถัดไปก็ได้
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังมีระเบียบคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ว่าด้วยเบี้ยปรับ พ.ศ. 2567 ที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ด ได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 และมีผลบังคับใช้แล้ว ระบุผู้ประกอบการที่ทำผิดระเบียบ จะมีโทษปรับสูงสุดวันละ 5 หมื่นบาท ซึ่งโทษหนึ่งในนั้นคือ การไม่รับซื้อนํ้านมดิบจากเกษตรกรรวมอยู่ด้วย
“ภาพจะเห็นชัดขึ้นในปี 2568 ว่าแต่ละบริษัทมีการนำเข้าจริงเท่าไหร่ เป็นไปตามที่ขอไว้หรือไม่ และอาจใช้ประวัติ เพื่อกำกับดูแลในเรื่องการนำเข้านมผงในปีถัดไป”
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่งก็เข้าใจเกษตรกรว่ามีความกังวล เพราะตัวเลขนมผงที่ขอนำเข้ามีปริมาณมากจริง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องมั่นใจในการกำกับดูแลของมิลค์บอร์ด ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานฯ และมีอธิบดีที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งในห่วงโซ่อุตสาหกรรมนมของไทยมองว่าคงไม่มีใครกล้าตุกติก หรือละทิ้งเกษตรกร เชื่อว่านํ้านมดิบทุกหยดจะมีคนรับซื้อ เพราะนอกจากมีบทลงโทษที่รุนแรงแล้ว ยังต้องเจอมาตรการทางสังคมอีก เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าทำผิดสัญญา
อนึ่ง ปริมาณการขอนำเข้านมผงขาดมันเนยของไทย ปี 2567 ภายใต้กรอบเงื่อนไขของ WTO โควตา 53,423 ตัน นำเข้าจริง 42,864.77 ตัน ภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ขอนำเข้า 3,875.90 ตัน นำเข้าจริง 3,729.52 ตัน รวมนำเข้าจริง 46,594 ตัน ส่วน FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ไม่มีการนำเข้า
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,055 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567