โรงสี-คลังฝากเก็บ-ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่นอนผวา หวั่นถูกลากร่วมชดใช้ความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในส่วนอีก 80% หรือ 1.4 แสนล้านวงการชี้ยุติธรรมแล้วหากใครผิดจริงก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ด้านบิ๊ก”พงษ์ลาภ” ผู้ให้เช่าคลัง ลั่นพร้อมให้ตรวจสอบ ยันโปร่งใสทุกขั้นตอนเข้า-ออก
จากที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ได้ออกมาระบุว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้กระทรวงมหาดไทยไปตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อโรงสีข้าวและคลังเก็บข้าวที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายร่วมกับกลุ่มผู้บริหารและข้าราชการในกระทรวงที่รับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในส่วนมูลค่าความเสียหายอีก 80% หรือมูลค่า 1.42 แสนล้านบาทหากตรวจสอบแล้วพบมีความผิดนั้น
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ..ต.ก.)เป็นผู้ไปเช่าโกดัง หรือคลังเก็บข้าวจากเอกชน โดยจะดำเนินการจัดเก็บข้าวที่ได้ให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำการสีแปรเป็นข้าวสารแล้วทำการจัดเก็บข้าวเอง แต่ในปีสุดท้ายของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก(ปีการผลิต 2556/57) ทาง อคส. และ อ.ต.ก.ได้มีสัญญาใหม่ให้ผู้ให้เช่าคลังฝากเก็บข้าวต้องรับผิดชอบทั้งจำนวนและคุณภาพข้าว รวมถึงการจัดหาบริษัทเซอร์เวเยอร์มาตรวจรับรองคุณภาพข้าวก่อนฝากเก็บ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ อคส. และ อ.ต.ก. มาดูแลตรวจสอบการเข้า-ออกของข้าวร่วมกับเจ้าของคลัง
“ต้องแยกอาชีพกันให้ชัดระหว่างโรงสี กับผู้ให้เช่าคลังหากรัฐจะพิจารณาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเพื่อให้ชดใช้ความเสียหาย เพราะส่วนใหญ่ทำโรงสีอย่างเดียว แต่บางรายทำโรงสีด้วย และมีคลังหรือสร้างคลังให้รัฐบาลให้เช่าด้วย ต้องแยกการตรวจสอบเป็นราย ๆไป โดยจะต้องให้ความยุติธรรมและให้สิทธิทุกคนในการชี้แจงและนำเสนอข้อมูล”แหล่งข่าวกล่าว และว่า
ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีหลายปีการผลิต มีผู้ประกอบการโรงสีเคยเข้าร่วมสูงสุดกว่า 800 โรง จากในช่วงแรก ๆ มีเข้าร่วม 500-600 โรง หากรัฐบาลมีการตรวจสอบเพื่อหาความเชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนทำให้โครงการรับจำนำข้าวได้รับความเสียหายแล้ว หากพบมีความผิดก็ว่ากันไปตามความผิดการชดใช้ความเสียหายก็ถือว่ามีความยุติธรรม
ด้านแหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว เผยว่า ใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริหารซึ่งเป็นส่วนของรัฐมนตรีและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายข้าวประมาณ 2,000 รายชื่อ, กลุ่มผู้ปฏิบัติที่เป็นข้าราชการในกระทรวงที่รับผิดชอบ และจากองค์กรต่างๆ ประมาณ 4,000 ราย และกลุ่มที่ 3คือผู้ประกอบการ เช่นเอกชน โรงสี และคลังสินค้า ในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีผู้ส่งออกรวมอยู่ด้วยหรือไม่ แต่ในความเข้าใจคาดจะมีผู้ส่งออกรวมอยู่ในกลุ่มนี้ และจะต้องถูกตรวจสอบความเชื่อมโยงด้วย
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ส่งออกที่เคยซื้อข้าวในสต๊อกของโครงการรับจำนำข้าวที่ในช่วงนั้นรัฐบาลไม่มีการเปิดประมูลระบายข้าว แต่ใช้วิธีให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ข้าวจากต่างประเทศสามารถนำคำสั่งซื้อมาแสดงและขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล(ผ่านเลขานุการ รมว.พาณิชย์)ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะถูกตรวจสอบว่า ราคาที่ซื้อไปนั้นต่ำกว่าราคาตลาดของกรมการค้าภายในช่วงนั้นหรือไม่ หากได้มาในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอาจจะต้องไปแก้ต่าง และอาจต้องชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ
“ช่วงนั้นผู้ที่ซื้อข้าวจากกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ประมาณ 10 รายรวมถึงผู้ประกอบการโรงสีที่ขอซื้อข้าวในคลังที่ตัวเองรับฝากเก็บ หากมีการตรวจสอบก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะยุติธรรรมหรือไม่ก็ต้องดูเป็นรายกรณี”
ด้านนายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวโดยเป็นผู้ให้เช่าคลังเก็บข้าวกล่าวว่า พร้อมให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องยอดการเข้า-ออก เรื่องคุณภาพข้าว เพราะโปร่งใสอยู่แล้วไม่กลัว ส่วนข้าวที่ออกจากคลังไปแล้วจะไปโกงกินกันอย่างไรไม่รับรู้ ทั้งนี้บริษัทมีคลังที่ให้รัฐบาลเช่าฝากเก็บข้าว 2 หลัง รับฝากเก็บเข้ามา 1 ล้านตัน รัฐได้นำออกจากคลังไปแล้วประมาณ 90% คงเหลือ ณ ปัจจุบันประมาณ 1 แสนตัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559