ก.แรงงานย้ำดูแลแรงงานไทยและต่างด้าวตามมาตรฐานสากล

17 ธ.ค. 2559 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2559 | 16:06 น.
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมและแนวทางการจัดหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยว่า ถือเป็นโอกาสอันดี และเป็นเวทีที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ด้วยขณะนี้การเคลื่อนย้ายของแรงงานทั่วโลกเกิดขึ้นในปริมาณและในลักษณะที่ซับซ้อนกว่าในอดีต การเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเอง นับวันก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความจำเป็นของการรับแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องหาวิธีและมาตรการในการดำเนินการที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับหลักและแนวปฏิบัติของการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม ที่ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หากแต่จำเป็นต้องอาศัยความตระหนักและความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างระบบหรือกระบวนการเคลื่อนย้ายและการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่ปลอดภัย โปร่งใส มีจริยธรรม และให้ความสำคัญกับการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของลูกจ้าง

10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากประชากรวัยทำงานของประเทศไทยมีจำนวนลดลง ขณะที่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงาน และมีความจำเป็นที่จะต้องรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านอื่นๆ ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแรงงานในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และกิจการประมงที่ถือเป็นฐานกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักได้ให้ความสำคัญกับการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และพยายามที่จะพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้ออกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 เพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทจัดหางาน และนายจ้างที่นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน โดยมีระเบียบปฏิบัติในการเรียกเงินค่าบริการและค่าใช้จ่าย นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานต่างด้าว และห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าวไม่ว่ากรณีใดๆ ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ มีผลใช้บังคับไปแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมถึงปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบอื่นๆ ทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ.2557 กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 และกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ.2559 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งหากมีการตรวจพบการกระทำผิดกฎหมายจะมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนทันที รวมทั้งการพิจารณาใช้กำหนดโทษสูงสุดต่อผู้กระทำผิด

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงาน และผู้ประสานงานด้านภาษา รวมถึงเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายของแรงงานต่างด้าวในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความช่วยเหลือ ข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คำปรึกษาและคำแนะนำ รวมถึงการช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ และให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงาน ทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยได้เพิ่มการตรวจเพื่อคุ้มครองแรงงานอย่างเข้มข้น ในสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน อาทิ กิจการเกี่ยวเนื่องประมงทะเล ไร่อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม  รวมถึงกิจการแปรรูปเนื้อไก่ ฟาร์มไก่ต่างๆ อีกทั้งยังได้ส่งเสริมสถานประกอบกิจการในการนำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 3,200 แห่ง และจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมายรวม  6,20800 แห่ง นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นทำงานบูรณาการกับทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยตรวจสอบและควบคุมดูแลให้สถานประกอบการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีมาตรฐาน มีการจัดสรรดูแลด้านสวัสดิการ เพื่อให้พนักงานมีความมั่นคง มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ตลอดจนมีกระบวนการดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

การจ้างงานอย่างมีจริยธรรมและการจัดหาแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับแรงงาน รวมถึงตัวแรงงาน และผู้ประกอบกิจการก็จะได้ประโยชน์สูงสุดกันทุกฝ่าย แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ ความเห็นใจ ความรับผิดชอบ และความเคารพในกฎเกณฑ์ ระเบียบ และกฎหมาย รวมถึงแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์