กรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาผักตบสรุปผลงาน6เดือน

17 มี.ค. 2560 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2560 | 15:51 น.
วันนี้ (17 มีนาคม 2560) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2560 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

IMG_3827 อำนวยการพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการสรุปผลการดำเนินการในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 59 – มีนาคม 60 ซึ่งจากการสำรวจจำนวนผักตบชวา เมื่อเดือนกันยายน 59 จากแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณที่จะต้องกำจัดรวมทั้งสิ้น 6,205,355 ตัน โดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร จังหวัด อำเภอ ท้องถิ่นทุกแห่ง หน่วยงานทหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนร่วมมือกันทำงานแบบ “ประชารัฐ” โดยเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาตามมาตรการปราบปรามหรือเก็บใหญ่ ได้เป็นปริมาณทั้งสิ้น 7,156,697 ตัน คิดเป็นร้อยละ 115.33 % (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2560) สามารถจัดเก็บได้มากกว่าปริมาณสำรวจที่กำหนดเป้าหมายไว้ในเบื้องต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผักตบชวามีวงรอบของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลา 15 - 20 วัน สามารถเติบโตเพิ่มเป็น 2 เท่า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการในการป้องกัน (เก็บเล็ก) อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้ผักตบชวามีปริมาณสะสมจนเกิดปัญหาได้อีก ซึ่งจะพิจารณาแนวทางเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการปฏิบัติ 2 แนวทาง คือ
IMG_3826 แนวทางที่ 1 เสริมสร้างศักยภาพความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันหรือเก็บเล็กให้กับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการดูแลรักษาความสะอาดแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง โดยพิจารณาจัดสรรเรือท้องแบนพร้อมติดเครื่องยนต์ให้กับหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ริมน้ำไว้ใช้ในการดูแลรักษาแหล่งน้ำและจัดเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง
แนวทางที่ 2 มาตรการกำจัดและจัดเก็บอย่างต่อเนื่องในแหล่งน้ำเปิดโดยให้หน่วยงานหลักซึ่งมีเครื่องมือ เครื่องจักรและภารกิจ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานทหาร ดำเนินการกำจัดในแหล่งน้ำ สายหลักและแหล่งน้ำซึ่งได้แบ่งความรับผิดชอบกันแล้ว ให้ปลอดปัญหาผักตบชวา ไม่ให้กีดขวางการไหลของน้ำ ไม่เป็นปัญหาการสัญจรทางน้ำและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจจัดทำแผนดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่องในแหล่งน้ำที่รับผิดชอบ
สำหรับมาตรการกำจัดและจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำปิดกำหนดเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ภายใน 30 ก.ย. 60 เป้าหมายคือแหล่งน้ำปิดที่มีผักตบชวาภายในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานราชการซึ่งอยู่ในที่ตั้งของหน่วยงานทั่วประเทศที่มีขนาดไม่เกิน 100 ไร่ ดำเนินการให้เป็นแหล่งน้ำปลอดปัญหาผักตบชวา ระยะที่ 2 ภายใน 30 ก.ย. 61 เป้าหมายคือแหล่งน้ำปิดในพื้นที่สาธารณะที่มีขนาดไม่เกิน 200 ไร่ ดำเนินการให้มีความพร้อมเพื่อประกาศให้เป็นแหล่งน้ำปลอดปัญหาผักตบชวา ระยะที่ 3 ระยะเวลา 2 - 5 ปี เป้าหมายคือแหล่งน้ำปิดขนาดใหญ่กว่า 200 ไร่ ขึ้นไป เช่น กว๊านพะเยา หนองหาร หนองบัวแดง บึงสีไฟ ทะเลน้อย บึงบอระเพ็ด รวมถึงแหล่งน้ำในความรับผิดชอบของกรมชลประทานทั้งหมดเป็นแหล่งน้ำปลอดปัญหาผักตบชวา
ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวา จะมีความยั่งยืนได้ ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน รวมทั้งการสร้างจิตสาธารณะ ร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น 1.อยากให้จังหวัดถือว่าเป็นภารกิจประจำต้องกำจัดและรายงานให้ฝ่ายเลขาฯทุกเดือน 2.กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งชมรมคนริมน้ำในพื้นที่แหล่งน้ำที่มีผักตบชวาทั้งหมดทั่วทุกพื้นที่ เพื่อช่วยเฝ้าระวังไม่ให้ปริมาณผักตบชวาในพื้นที่สะสมจนเกิดเป็นปัญหา โดยมีผู้นำชุมชน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร และตำรวจ เข้าร่วม และควรจัดให้มีบุคลากรเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนในการกำจัดผักตบชวาหรือการนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเกษตรตำบลมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลและตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวา หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังจะเกิดผลเสียอย่างไร ซึ่งเมื่อประชาชนทราบและเข้าใจแล้ว ความร่วมมือจากภาคประชาชนย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ปัญหาผักตบชวาที่อยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ และแหล่งน้ำของภาคเอกชนก็จะลดลงด้วย
----------------------------