นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออกร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ… และพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ… นั้น เรื่องนี้เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ไทยกำลังเข้าร่วมข้อตกลง เกณฑ์ Global Minimum Tax ให้มีการเก็บภาษีนิติบุคคล สำหรับบริษัทข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 15% เพื่อป้องกันการแข่งขันลดภาษีมากเกินไป
“ปัจจุบันเรื่องนี้กำลังอยู่ในชั้นความลับ โดยรัฐบาลกำลังเร่งทำอยู่ ซึ่งสาเหตุที่ต้องออก พ.ร.ก.เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องรีบทำ เพื่อบังคับใช้กับบริษัทข้ามชาติ ที่มีบางแห่งที่ไปจดทะเบียน ตั้งกับประเทศที่ไม่มีเสียภาษี หรือเสียภาษีต่ำ แต่กฎหมายใหม่นี้ จะช่วยบังคับว่าบริษัทเหล่านั้น จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% ไม่ว่าจะเสียจากประเทศต้นทางที่จดทะเบียน หรือเสียที่ประเทศซึ่งเป็นแหล่งเงินได้”
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่ากำลังจะถูกบังคับให้เสียภาษีดังกล่าว โดยหากบริษัทข้ามชาตินั้น ๆ ไม่เสียภาษีนิติบุคคล 15% ที่ประเทศไทย ก็ต้องกลับไปเสียภาษีในประเทศบ้านเกิดตัวเอง และบางส่วนก็อยากมาเสียภาษีที่ประเทศไทย
แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ประเทศไทยมีมาตรการดูแล สนับสนุนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเหล่านั้น ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยให้รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็นนับหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอีก
ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาว่ารัฐบาลจึงจะมีการออกกฎหมายสนับสนุน กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งกองทุนนี้จะมีประโยชน์ คือ จะมีการนำเงินบางส่วนจากเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้เข้าไปใส่ไว้ และนำเงินมาสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต การสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว การลดฝุ่น PM 2.5 ให้กับบริษัทข้ามชาติที่เลือกมาเสียภาษีนิติบุคคลในไทย 15%
“รัฐบาลกำลังเร่งจัดทำข้อตัวบทกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อให้ทันกรอบระยะเวลาการดำเนินการปีภาษีที่จะเริ่มช่วงเดือนม.ค.-ธ.ค.68 เพราะหากทำไม่ทันปลายปีนี้ก็จะไม่ได้เก็บ ต้องเสียเวลาเริ่มไปอีกปี ซึ่งเป็นเรื่องของใครเก็บก่อนได้เปรียบ ไทยจึงจะเป็น 1 ใน 20 กว่าประเทศทั่วโลกที่จะเริ่มใช้กลไกของกฎหมายนี้อย่างจริงจังเป็นที่แรก โดยเริ่มกฎหมายตั้งแต่ 1 ม.ค.68 และจะให้มีผลยื่นภาษีได้ในปี 69”