ธุรกิจเรือครูส สบช่องขยายฐานเดินเรือเส้นทางใหม่ในไทย รองรับตลาดในเอเชียโตมากกว่า 22% ทั้งรัฐบาลประกาศนโยบายดันไทยฮับเรือสำราญแห่งอาเซียน ยกเครื่อง 3 ท่าเรือรองรับ ล่าสุด สตาร์ครูซส์ เปิดโฮมพอร์ตแหลมฉบังเชื่อมกัมพูชา
จากแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยวทางเรือในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเรือสำราญแห่งอาเซียน ที่ไม่เพียงเน้นเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำในภูมิภาคนี้ แต่ยังอยู่ระหว่างการเพิ่มท่าเรือสำราญให้รองรับเรือสำราญได้พร้อมกันมากขึ้นและปรับปรุงสาธารณูปโภคที่ท่าเรือคลองเตย จ.กรุงเทพฯ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และท่าเรือมะขาม จ.ภูเก็ต เพื่อรองรับธุรกิจนี้
ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่สนใจเข้ามาสร้างฐานการเดินเรือใหม่ในไทยบ้างแล้ว ซึ่งล่าสุด เรือสำราญสตาร์ครูซส์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเกนติ้ง ฮ่องกง และเป็นผู้นำธุรกิจล่องเรือในน่านน้ำเอเชียแปซิฟิก ตัดสินใจนำเรือสำราญสุดหรู “ซุปเปอร์สตาร์ เจมิไน” เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2560-29 เมษายน2561
นาย อัง มู ลิม ประธานกรรมการบริษัทเรือสำราญสตาร์ครูซส์ฯ เผยว่า บริษัทของเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานกับประเทศไทยย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ขณะนั้นเราได้เข้าเทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งแรก และการกลับมาอีกครั้งของสตาร์ครูซส์ ที่จะนำเรือสำราญ SuperStar Gemini เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ของเราในไทยในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ จะเป็นโปรแกรม ที่เริ่มเดินทางออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังสีหนุวิลล์ เกาะกง เกาะสมุย
ทั้งนี้รูปแบบการขายจะมี 3 โปรแกรม คือ โปรแกรม 4 วัน 3 คืน ออกเดินทางทุกวันอาทิตย์ ไปยังเมืองสีหนุวิลล์ และเกาะสมุย ราคาเริ่มต้น 1.29 หมื่นบาทต่อท่าน , โปรแกรม 3 วัน 2 คืน ออกเดินทางทุกวันพุธ ไปยังสีหนุวิลล์ ราคาเริ่มต้น 8,900 บาทต่อท่าน และโปรแกรม 3 วัน 2 คืน ออกเดินทางทุกวันศุกร์ ไปยังเกาะกง เริ่มต้น 9.9 พันบาทต่อท่าน ซึ่งเป็นราคาโปรโมชั่นที่เปิดขายถึงเดือนมิถุนายนนี้
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า รัฐบาลไทยมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการขยายการท่องเที่ยวเรือสำราญในไทย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 36 (ASEAN Tourism Forum ATF 2017) ที่ประเทศสิงคโปร์ ก็มีการหารือร่วมกันเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการขยายการเดินทางท่องเที่ยวน้ำในภูมิภาคนี้ให้เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางเชื่อมโยง เมืองท่องเที่ยวชายทะเล เช่น ภูเก็ต สีหนุวิล (กัมพูชา) และฟูก๊วก (เวียดนาม) การเดินเรือสำราญและเรือยอชต์ในอาเซียน เป็นต้น โดยมีการหารือร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรจะทำให้กฎระเบียบทางน้ำ ให้สอดคล้องกัน
ทั้งในการงาน Seatrade Cruise Global 2017 ที่เมือง Fort Lauderdale รัฐฟลอริดา เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการหารือกับผู้บริหารของ Thomson Cruises และคณะฯผู้บริหารบริษัท TUI ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของยุโรป เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ โดย TUI มีความสนใจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือสำราญของคนอังกฤษในประเทศไทยและอาเซียน โดยสนใจการพัฒนาท่าเรือสำราญทั้งที่คลองเตย แหลมฉบัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือจังหวัดภูเก็ต ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Turnaround Port ต่อไป โดยมีแผนการปรับปรุงท่าเรือให้เสร็จทันภายในระยะเวลา 18 เดือน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางเรือสำราญในเอเชียที่เติบโตมากกว่า 22% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
“เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพสูง เศรษฐกิจไทยดีขึ้นในสายตานักธุรกิจนานาชาติ ธุรกิจ Cruise Liners ขนาดใหญ่สนใจย้ายฐานมา และสร้างฐานใหม่ในประเทศไทยพร้อมผลักดัน การท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเรือสำราญในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยข้อดำเนินการจากนี้คือ หลังจากนี้จะเร่ง ดูการจัดการความพร้อมด้าน Supply Chain Logistics การกระจายสินค้าและการบริหารโกดังคลังสินค้าหลัก ของบริษัท Holland America Group ซึ่งเป็นผู้ส่งของใช้ให้เรือสำราญรายใหญ่ๆ ให้แก่ 4 บริษัทเรือสำราญ อาทิ Princess Cruises, Holland America Line, Seabourn และ P&O ทั้งหมด 44 ลำ
โดยเชื่อมั่นว่า ประเทศไทย มีธุรกิจอีกมาก ที่ขายของใช้ในเรือสำราญได้ เช่นธุรกิจขายผ้าปูเตียง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์ของใช้ในเรือสำราญ อุปกรณ์สร้างและซ่อมเรือ และธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวเรือสำราญ เพราะตลาดมีความต้องการสูง” นางกอบกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560