วันนี้ (วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567) การบินไทย มีกำหนดการจัดประชุมเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างทุน รวมถึงขอมติที่ประชุม โหวตเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางกระทรวงการคลัง ได้เสนอขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ราย จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม
ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
ในการประชุมเจ้าหนี้วันนี้ ทางสหภาพแรงงานการบินไทย ได้นัดรวมพล หน้าอาคาร 1 สำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เวลา 8.00 น.เพื่อแสดงจุดยืนปกป้องการบินไทยจากการเมืองแทรกแซงกรณีที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทได้มีหนังสือมายังบริษัทการบินไทย เพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย
โดยเตรียมเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย. 67 เพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว พร้อมแจ้งแก่พนักงานที่เป็นเจ้าหนี้รายย่อยการบินไทย ให้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้ โดยระบุว่า ถ้าไม่อยากได้ผู้บริหารแผน จากตัวแทนรัฐเพิ่มอีก 2 คน ให้โหวต No เท่านั้น ขณะที่เจ้าหนี้บางราย ก็เตรียมเสนอให้มีการเลื่อนการโหวตออกไปก่อน
ขณะเดียวกันก็ยังมีเจ้าหนี้บางส่วนที่แสดงจุดยืนที่ไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยต่างมองไปในทางเดียวกันว่า เป็นการเปิดทางให้รัฐบาลกลับมาแทรกแซงการบินไทย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการบินไทย จะกลับไปย่ำแย่เหมือนในอดีต จากการเข้ามาล้วงลูกจากกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล
ทำให้การบินไทย กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจการบินได้ จนต้องกลับไปขาดทุนเหมือนในอดีต ทั้งๆที่ปัจจุบันการบินไทย มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่ดี มีผลประกอบการที่มีทำกำไรต่อเนื่อง จากการบริหารจัดการแผนฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพราะผู้บริหารแผนจะต้องเป็นผู้กำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งหากกำหนดราคาต่ำก็เกิดประโยชน์ในการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในเดือนธ.ค.นี้ แต่ส่งผลเสียต่อการบินไทยในการระดมทุนได้น้อย ทั้งยังทำให้นักลงทุนรายอื่นๆ จะเสียประโยชน์จากการแปลงหนี้เป็นทุนที่หวังให้ราคาหุ้นสูงขึ้น
รวมทั้งหากบอร์ดชุดใหม่ของการบินไทยมีตัวแทนส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่กำลังพิจารณาจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพราะเกรงว่าการบินไทยจะกลับไปเป็นสายการบินที่มีภาครัฐแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ไม่เห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงการคลังเพื่อมาเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะยังประโยชน์แก่เจ้าหนี้ จะยังประโยชน์แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และยังประโยชน์แก่สาธารณะแต่อย่างใด
การเพิ่มจำนวนผู้แทนดังกล่าวมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่การบริหารจัดการต่างๆ มีความลงตัว และคืบหน้าไปมากแล้ว เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท เจ้าหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หากต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัทชุดแรกที่ทรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลและไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ
การเพิ่มจำนวนผู้แทนกระทรวงการคลังจำนวน 2 คนนั้น เป็นการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผู้บริหารแผนฯ มีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกคณะกรรมการมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัท
โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบิน และจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของบริษัทและเจ้าหนี้ ภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลอย่างดี จึงไม่สมควรเข้ามาแทรกแซงบริษัทเอกชน และไม่ควรเอาเปรียบเจ้าหนี้ทั้งปวงเยี่ยงนี้ จึงเห็นว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ จะไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฯ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ เพื่อประโยชน์ของการบินไทย และเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึง ไม่เห็นด้วย ต่อข้อเสนอของกระทรวงการคลังดังกล่าว