จิ๊กซอว์ ‘คิงเพาเวอร์’ซินเนอร์ยี่ 3 ธุรกิจปั้ม 1.4 แสนล้านขึ้นท็อป 5 โลก
หลังจากตระกูลศรีวัฒนประภา ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของไทยแอร์ เอเชียเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ล่าสุดเราได้เห็นการเดินเครื่องซินเนอร์ยี่ 3 ธุรกิจของคิงเพาเวอร์ทั้ง ดิวตี้ฟรี ,โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส และทีมสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี้ ในเชิงรุกมากขึ้นในปีนี้และเป้าหมายการขับเคลื่อนคิงเพาเวอร์สู่ท็อปไฟว์ดิวตี้ฟรีโลกภายใน5ปีนี้ ภายใต้การกุมบังเหียนของ “อัยยวัฒน์ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ควบรองประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้
ตีตราแบรนด์ใน40 ฝูงบิน
ล่าสุดคิงเพาเวอร์ ได้ทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท เพนต์โลโกคิงเพาเวอร์ บนเครื่องบิน 3 ลำของไทยแอร์เอเชีย ขณะนี้เพนต์เสร็จแล้ว 1 ลำอีก2ลำอยู่ระหว่างเพนต์ซึ่งอาจจะเป็นทีมเลสเตอร์ และติดตั้งสื่อโฆษณาภายในตัวเครื่องบิน จำนวนกว่า 40 ลำ ภายในสิ้นปี 2560จากปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีฝูงบิน 53 ลำใน 6 ฐานการบิน ซึ่งให้บริการเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศรวมมากกว่า 48 จุดหมายปลายทาง หรือ 1,144 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
การลงทุนในเรื่องนี้จะทำให้เห็นและจดจำแบรนด์คิงเพาเวอร์ แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า 40 ล้านคนต่อปี ทั้งหวังว่าจะผลักดันให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายในร้านดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ในไทยทุกสาขาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 20 %คือ เพื่อหวังบรรลุยอดขายราว 9 หมื่นล้านบาทในปีนี้เพิ่มจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่7.5หมื่นล้านบาท
“ธุรกิจดิวตี้ฟรีและสายการบิน เมื่อรวมกันจะทำให้เกิดกลยุทธการต่อยอดทางธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการขยายฐานนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งทั้งคิงเพาเวอร์และไทยแอร์เอเชีย มีฐานลูกค้าหลักกลุ่มนี้ในมือ ที่สามารถแชร์ไอเดีย แชร์ฐานข้อมูลระหว่างกันเพื่อขยายช่องทางในการนำนักท่องเที่ยวเข้าไทยและการขยายช่องทางขายสินค้าของคิงเพาเวอร์ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ แม้จุดหลักจะเป็นธุรกิจฟุตบอล แต่การทำทีมให้ประสบความสำเร็จและรักษาอันดับในพรีเมียร์ลีก ก็จะทำให้เราต่อยอดเรื่องแบรนด์มาร์เก็ตติ้ง ให้ธุรกิจของคิงเพาเวอร์ ยิ่งเลสเตอร์ ซิตี้ ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ แบรนด์คิงเพาเวอร์ก็จะยิ่งเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แม้เลสเตอร์ ซิตี้อาจจะยังขาดทุนอยู่จากการที่เราลงทุนเพิ่มในการทำทีม แต่เชื่อว่าหากเราอยู่ในพรีเมียร์ลีกได้อีก2 ปี ก็จะทำให้มีกำไร” นายอัยยวัฒน์ศรีวัฒนประภา กล่าว
หวังติดท็อป 5 ดิวตี้ฟรีโลก
การบริหารธุรกิจดิวตี้ฟรี ซีอีโอ คิงเพาเวอร์ กางวิชันไว้ว่าในปี2560 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้วางกลยุทธ์การตลาด เพื่อผลักดันธุรกิจปลอดอากรไทยก้าวสู่ท็อป 5 ในธุรกิจปลอดอากรระดับโลกภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ระดับ 7 ของโลกซึ่งมียอดขายห่างจากอันดับ 6 อยู่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ1มียอดขาย 1.4 แสนล้านบาท ซีอีโอคิงเพาเวอร์ มองว่าหากเราโตปีละ20% ภายใน 5 ปีนี้ เราก็จะมีรายได้อยู่ที่ 1.3-1.4 แสนล้านบาท
ส่วนแผนลงทุนช่วง 5 ปีนี้คิงเพาเวอร์โดยได้เตรียมงบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ในการขยายการลงทุนดิวตี้ฟรีทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยมองที่ประเทศฟิลิปปินส์และเมียนมาแต่ต้องรอความชัดเจนเรื่องกฎหมายของรัฐบาล2ประเทศก่อนว่าจะให้คนต่างชาติถือหุ้นได้เท่าไหร่ส่วนในไทยก็มองการลงทุนดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ที่เชียงใหม่และพร้อมจะไปประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงการประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิที่จะหมดสัญญาในปี 2563 ที่พร้อมเสนอตัวหากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.มีการเปิดประมูล
นอกจากนี้ปีนี้คิงเพาเวอร์ มีแผนจะขยายการลงทุนพัฒนาธุรกิจในเครือฯ ก้าวสู่มาตรฐานระดับโลก ทั้ง โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ ลงทุนราว 500 ล้านบาทโรงละครลงทุนร่วม 2,500 ล้านบาท ปิดปรับปรุง คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ครั้งใหญ่ในวันที่ 26 เมษายนนี้ คาดว่าจะเปิดโฉมใหม่ได้ ภายในไตรมาส 4 ของปี 2560 ทั้งระหว่างการปรับโฉมคิงเพาเวอร์ได้เตรียมพื้นที่ภายในโรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ ซอยรางน้ำ ให้เป็นป็อปอัพสโตร์ให้ลูกค้ายังคงช้อปปิ้งได้ และก่อนการปิดปรับปรุง คิงเพาเวอร์ ได้จัดแคมเปญลดราคาสินค้าสุดพิเศษ สูงสุดถึง 70 %ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายนนี้
“เราเชื่อว่า คิง เพาเวอร์ รางน้ำ รูปโฉมใหม่จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการค้าปลีกสินค้าปลอดอากรที่นำเสนอประสบการณ์ช้อปปิ้งล้ำสมัยที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย สามารถสร้างกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้อย่างหลากหลายครบทุกมิติเจาะกลุ่มเอฟไอทีจีนคนไทยและชาวต่างชาติอื่นๆขณะที่กรุ๊ปทัวร์จีนจะไปเน้นการให้บริการที่สาขาศรีวารีที่จะมีทัวร์จีนใช้บริการราว 1 หมื่นคนต่อวัน”นายอัยยวัฒน์กล่าว
ซื้อที่เพิ่มเล็งผุดรร.ในอังกฤษ
ในส่วนของธุรกิจในต่างประเทศนั้น นอกจากแผนการขยายที่นั่งในสนามฟุตบอลคิงเพาเวอร์ สเตเดี้ยม อีก 1 หมื่นที่นั่ง จาก 3.2 หมื่นที่นั่งเป็น 4.2 ที่นั่ง ที่อยู่ระหว่างการก่ออนุญาตจากหน่วยงานของเมืองเลสเตอร์แล้ว และได้ไปซื้อที่ดินรอบข้าง ราว 6 เอเคอร์ เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจอื่นๆในเมืองเลสเตอร์ ที่ตามแผนมองไว้ว่าจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลและตอบสนองชาวเมือง ซึ่งกำลังศึกษาแผนลงทุนอยู่ ยังบอกชัดเจนไม่ได้ว่าจะเป็นโรงแรม อีเวนต์คอนเสิร์ต เพราะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของเมืองเลสเตอร์ด้วยเช่นกัน
เบ็ดเสร็จหากจะรวมรายได้จากการซินเนอร์ยีธุรกิจที่เกิดขึ้น ทั้ง 3 ธุรกิจในปีนี้สามารถขับเคลื่อนรายได้ร่วม 1.1 แสนล้านบาทโดยตัวทำเงินหลักยังคงเป็นธุรกิจดิวตี้ฟรี ที่มียอดขายในหลัก 9 หมื่นล้านบาท รายได้ของเลสเตอร์ ซิตี้ ที่คาดว่าจะเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จากส่วนแบ่งรายได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่พรีเมียร์ ลีก แบ่งให้มาเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากจากการขายเสื้อและสินค้าที่ระลึกที่เพิ่มขึ้น40-50%ส่วนรายได้จากธุรกิจการบิน ไม่ได้มากมาย แม้เทียบกับอีก 2 ธุรกิจของคิงเพาเวอร์ แต่ก็เป็นช่องทางที่ช่วยต่อยอดการขายสินค้าให้คิงเพาเวอร์ในอีกช่องทางหนึ่งนายอัยยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560