จากกระแสเกษตร 4.0 ของรัฐบาล เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรหลายรายลุกขึ้นมาพัฒนา หรือยกระดับพืชเกษตรที่ตัวเองมีอยู่ มาต่อยอดไปสู่สินค้าอีกหลากหลายประเภทออกสู่ตลาด เหมือนกับที่ “แจ็ค”ราเมศ รัตยันตรกร เกษตรกรจากจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Madame Mango (มาดามแมงโก้) ผลิตภัณฑ์มะม่วงแปรรูปที่น่าจับตาในเวลานี้ หลังจากออกมาเปิดตลาดไม่ทันถึงปีมะม่วงอบแห้งได้รับความนิยมไปถึงประเทศจีนและอีกหลายประเทศที่กำลังตามมา
ล้อตามรัฐ"เกษตร4.0"
ราเมศ ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงมะม่วงอบแห้ง "มาดามแมงโก้" ว่า เริ่มทำตลาดจริงจังเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 จากที่ใช้เวลาสำรวจตลาดมาระยะหนึ่ง ทำตั้งแต่ปลูก และขายมะม่วงในสวนตามฤดูกาล และถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาหนักขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องหันมาทำธุรกิจแปรรูปมะม่วงอบแห้ง ทำในรูปเกษตรครบวงจร เรียกว่าล้อไปตามโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาลด้วย จึงระดมพื้นที่ปลูกมะม่วงของครอบครัวราว 40 ไร่ และของพันธมิตรในชุมชน อีกกว่า 400 ไร่ รวมแล้วมีพื้นที่ราว 500 ไร่ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โดยทุกไร่ที่ปลูกมะม่วงจะได้รับรองแหล่งผลิตพืช(GAP) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เรียกว่าลักษณะธุรกิจที่ทำว่า เป็นเกษตรครบวงจร มีตั้งแต่วัตถุดิบ(มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้)แล้วนำไปแปรรูปโดยจ้างโรงงานโออีเอ็มโซนภาคกลางแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง ได้ผลผลิตมาดามแมงโก้ออกมาราว 5 ตันต่อวัน ยังไม่รวมสินค้าที่อยู่ระหว่างทดลองตลาดอีก 3-4 ชนิด ที่ใช้มะม่วงเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งผลิตภัณฑ์มะม่วงกวน น้ำมะม่วง ขนมพายมะม่วงออร์แกนิค และไอศกรีมมะม่วง ภายใต้แบรนด์ มาดามแมงโก้
สำหรับมะม่วงอบแห้งผลิตภัณฑ์ตัวหลักที่กำลังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำนั้น ผลิตจากสูตรของมาดามแมงโก้ทั้งหมด อบตามรสชาติที่ต้องการ เป็นสูตรเฉพาะด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคคือปราศจากน้ำตาล หรือ ที่เรียกว่า Sugar Free เมื่อนำมาอบแห้ง เป็นมะม่วงสุกอบแห้งเกรดส่งออกเนื้อมะม่วง100% เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพหรือกับคนที่ไม่ชอบหวานและคนที่เป็นเบาหวานก็สามารถรับประทานได้ อุดมไปด้วยแหล่งแคลเซียม ไฟเบอร์ เบต้าแคโรทีนควอซิทิน กรดโฟลิกและแอสตรากาลินในมะม่วงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง และช่วยป้องกันโรคหัวใจ ริ้วรอยก่อนวัยและภาวะเสื่อมของอวัยวะต่างๆ
พร้อมรับมืออเดอร์ล้น
เมื่อมะม่วงอบแห้งได้รับเสียงตอบรับมาดี ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างหารือจ้างบริษัทโออีเอ็มเพิ่มอีก 1 ราย เพื่อประกันความเสี่ยงกรณีที่ออเดอร์เข้ามาจำนวนมากแล้วบริษัทไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด ถ้าเจรจาสำเร็จจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 5 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานแปรรูปมะม่วงเอง
ราเมศ กล่าวว่า บริษัทเพิ่งได้รับออเดอร์จากจีนเป็นรายแรกสำหรับตลาดส่งออก โดยจีนสั่งซื้อมะม่วงอบแห้งตั้งแต่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคมปี 2560 จำนวน 9 ตัน โดยทะยอยส่งมอบไปครั้งละ 900 กิโลกรัม โดยไม่ต้องหีบห่อลงบรรจุภัณฑ์ และอีกจำนวน 6 ตัน ในช่วงเดียวกัน จะต้องส่งมะม่วงอบแห้ง ที่บรรจุลงถุงแล้วจำนวน 30,000 ถุง โดยทะยอยส่งมอบ นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจากับรัสเซียและตะวันออกกลางโดยผ่านเทรดเดอร์คนไทยส่งออกไป คาดว่าภายในปีนี้จะได้ออเดอร์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก
สำหรับช่องทางจำหน่ายสินค้าในปัจจุบันจะ มาจาก 1.ขายผ่านเทรดเดอร์ไปยังตลาดต่างประเทศ2.ขายผ่าน fanpage : madamemango56 หรือ Line ID : madamemango56 WeChat : madamemango และ Email :
[email protected] 3.ผลิตมะม่วงอบแห้งในรูปของโออีเอ็มเพื่อให้ลูกค้านำไปใช้แบรนด์ของตัวเองได้โดยปัจจุบันมะม่วงอบแห้งบรรจุหีบห่อขนาด 180 กรัม ขายปลีกที่ราคา 125 บาทต่อถุง
จ่อเข้าช่องทาง"ไป่ตู้"
ราเมศ กล่าวถึงความสำเร็จในเบื้องต้นว่า ในช่วง 5-6 เดือนเต็ม ที่เริ่มธุรกิจในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง เนื่องจากตลาดได้รับการขานรับดีมาก และที่สำคัญยังไม่ถึงปี ได้ลูกค้าจากจีนเข้ามาสั่งออเดอร์แล้ว และกำลังจะมีรายใหม่เพิ่มเข้ามา ทำให้ในปีนี้ต้องเริ่มประชาสัมพันธ์ธุรกิจมะม่วงอบแห้งมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การไปออกงานเทรดเดอร์ และร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ออกงานเปิดตลาดตัวอย่างของจังหวัด รวมถึงกำลังติดต่อโฆษณาผ่าน "ไป่ตู้" (Baidu) เป็นเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของประเทศจีน และเป็นเว็บไซต์ที่คนใช้มากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ที่ขณะนี้มีคนเข้าเสิร์ซข้อมูลมากถึง 700 ล้านคนหากเข้าไปสู่ช่องทางขายทางนี้ได้สำเร็จออเดอร์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเพราะจีนเป็นตลาดใหญ่
สุดท้ายเขามองปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นว่า ส่วนใหญ่ไม่ต่างกับเอสเอ็มอีทั่วไป ที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกันคือเข้าหาแหล่งเงินทุนยาก ขณะนี้มีความประสงค์จะมีพันธมิตรร่วมทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560