นายกฯร่วมประชุม IMT-GT เดินหน้าแผน 5 ปีระยะที่ 3
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ครั้งที่ 10 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 โดยมี ดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เข้าร่วมการประชุม และมีบุคคลสำคัญอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของสามประเทศ โดยรัฐมนตรี IMT-GT ของไทย ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นาย เล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน นายสตีเฟน พี กร๊อฟ รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ร่วมด้วยผู้แทนจากสภาธุรกิจ IMT-GT การประชุมฯ มีสาระสำคัญดังนี้
1. ผู้นำ IMT-GT ได้ยืนยันถึงบทบาทสำคัญของแผนงาน IMT-GT ต่อการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และรับทราบถึงความสำเร็จการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 2 พ.ศ. 2555–2559 รวมทั้งโครงการเพื่อความเชื่อมโยงใน IMT-GT ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสงระยะที่ 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช การออกแบบก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หาดใหญ่-สะเดา จังหวัดสงขลา การขยายด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม-สะเดา การพัฒนาท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง การพัฒนาทางหลวง 14 ช่วงในเกาะสุมาตรา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำเพื่อเตรียมให้บริการขนส่งโดยเรือเฟอร์รี่ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างมะละกา-ดูไม การริเริ่มสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะมีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตทางการค้า ได้แก่ เขตตันหยงอาปิอาปิในจังหวัดสุมาตราใต้ เขตซายมังคายในจังหวัดสุมาตราเหนือ เขตตันหยงเคลิยานในจังหวัดบังกาเบลิตุง เมืองยางพาราสงขลา เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และเขตอุตสาหกรรมชูปิงวัลลีในรัฐปะลิส รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้า BIMP-EAGA & IMT-GT ต่อเนื่องในปี 2555 2557 และ2559 และการเปิดเส้นทางการบินใหม่กว่า 10 เส้นทางใน IMT-GT พร้อมทั้งรับรองวิสัยทัศน์ระยะ 20 ปี ของแผนงาน (IMT-GT Vision 2036) และแผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนแรกของสี่แผน โดยจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของ IMT-GT ที่นำไปสู่การเป็นอนุภูมิภาคแห่งบูรณาการ การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความเหลื่อมล้ำน้อย และเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใน พ.ศ. 2579
นอกจากนี้ ยังได้ยืนยันอย่างหนักแน่นในการดำเนินโครงการเพื่อการเชื่อมโยงทางกายภาพมูลค่าการลงทุนรวม 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 3 โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างและพัฒนา ถนน สะพาน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ด่านศุลกากร และการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2. ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีไทยเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เน้นย้ำว่าในช่วงแผนดำเนินงานระยะห้าปี แผนที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 ควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 4 เรื่อง ได้แก่
2.1 การพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMT-GT และสร้างโอกาสการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยประเทศไทยมีความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เช่น อาคารด่านชายแดนสะเดา เมืองยางพารา เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และนายกรัฐมนตรียังได้เร่งรัดการหารือทางเทคนิคเพื่อให้สามารถเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่ตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์ และสะพานแห่งสองที่สุไหงโกลก-รันเตาปันยัง ได้ภายในปี 2560 และการบูรณาการการเชื่อมโยงปลายทางพิเศษหาดใหญ่-สะเดากับด่านบูกิตกายูฮิตัม มาเลเซีย
2.2 การพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลตามเป้าหมาย อาทิ การเจรจาความตกลงด้านการขนส่งข้ามแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีความเท่าเทียมในทุกรูปแบบการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางถนน และทางราง ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และรถบริการนักท่องเที่ยวและการขนส่งข้ามแดน โดยหารือทั้งภายใต้แผนงาน IMT-GT และกรอบทวิภาคีที่เกี่ยวข้อง
2.3 การพัฒนาด้านวัตกรรมและการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำ IMT-GT สู่โลกอนาคต โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ไทยได้มีปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในทิศทางดังกล่าวโดยใช้ไทยแลนด์ 4.0 จุดกระแสการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิตัล และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้รองรับกับพัฒนาการเทคโนโลยีทางการเงิน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เช่น สตาร์ตอัพ
นายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอให้ต่อยอดศักยภาพด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ของทุกประเทศใน IMT-GT ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่าย เช่น เขตการค้าเสรีดิจิตัลข้ามแดน ฮาลาล อีคอมเมอร์ส โครงข่ายไอทีเพื่อความมั่นคง เพื่อให้เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยภาครัฐเร่งจัดทำกรอบความร่วมมือเพื่อวางกลไกสนับสนุนการใช้ประโยชน์โดยประชาชนในด้านนี้อย่างเป็นระบบโดยเร็ว
2.4 การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทั้งสามประเทศมีความก้าวหน้าในความร่วมมือพัฒนาเมืองสีเขียว ในพื้นที่เมืองนำร่องและเตรียมขยายผลไปสู่เมืองอื่น ๆ เพื่อให้ประชาคมทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก รับผิดชอบร่วมกันในการดูแลสภาพแวดล้อม และประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อกลไกสามประสาน ได้แก่ ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ปราศจากช่องว่างระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และไม่ทิ้งฝ่ายใดไว้ข้างหลัง