ส่งออกไก่ไปเกาหลีโต200% ตลาดรวมไตรมาสแรกโกย2.3หมื่นล้าน

15 พ.ค. 2560 | 07:00 น.
ส่งออกไก่ไตรมาสแรก 2.3 หมื่นล้านบาท ปัจจัยหลักตลาดญี่ปุ่นนำเข้าต่อเนื่องรับเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวขยายตัว ขณะตลาดเกาหลีใต้โตกว่า 200% หลังไฟเขียวนำเข้าไก่สดปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดตรวจรับรองเพิ่มอีกกว่า 10 โรงงาน ตลาดอียูเร่งนำเข้าก่อนสิ้นปีโควตา

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการส่งออกไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่า สามารถส่งออกได้แล้วปริมาณ 1.80 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.9% ส่วนด้านมูลค่าส่งออก 2.30 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 10% ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นสัดส่วนประมาณ 50% สหภาพยุโรป(อียู)สัดส่วน 37% ที่เหลือเป็นตลาดอื่นๆ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์มาเลเซีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และแคนาดา

"การส่งออกสินค้าไก่ที่ยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรก ผลจากตลาดหลักคือญี่ปุ่นยังนำเข้าไก่แปรรูปและไก่สดจากไทยต่อเนื่องจากเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นขยายตัว รวมถึงญี่ปุ่นให้ความเชื่อมั่นสินค้าไก่ของไทยมากกว่าไก่จีน ขณะที่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เข้มงวดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิลหลังมีปัญหาด้านคุณภาพ และญี่ปุ่นยังมีปัญหาไข้หวัดนกส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยเพิ่ม"

ส่วนอียูอีกหนึ่งตลาดใหญ่คาดจะมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนสิ้นสุดปีโควตา ภาษี 2559 ที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ คาดจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าไก่ในภาพรวมของไทยช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันตลาดเกาหลีใต้ซึ่งได้เปิดนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยในรอบ 12 ปีในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไก่(ไก่แปรรูป+ไก่สด)ของเกาหลีใต้จากไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวสูงถึง 242% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณส่งออก 4,700 ตัน

"มีหลายบริษัทที่เริ่มส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้แล้ว เช่นซีพี สหฟาร์ม เบทาโกร เป็นต้น ล่าสุดทางเกาหลีมาตรวจรับรองโรงงานเพิ่มอีก 10 กว่าโรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการส่งออกไก่ของไทยไปเกาหลีได้เพิ่มขึ้น จากอดีตไทยเคยส่งออกไก่สดไปเกาหลีได้ถึงปีละ 4 หมื่นตัน ปีนี้จะได้มากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก ขณะที่ตลาดอียูภาพรวมจากนี้ยังไม่ค่อยดีเพราะค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง จากอดีต 40-50 บาทต่อยูโร ปัจจุบัน 37 บาทต่อยูโรมีผลต่อรายได้ของผู้ส่งออกไทยที่ลดลง ขณะที่ลูกค้าก็ต่อรองราคามากขึ้น"

นายคึกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า จากตลาดญี่ปุ่นที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดเกาหลีใต้ที่กำลังดีขึ้นตามลำดับ และตลาดอียูที่ต้องเร่งนำเข้าก่อนสิ้นสุดปีโควตา 2559 คาดจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าไก่ในภาพรวมไตรมาสที่ 2 ของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนในไตรมาสที่ 3-4 คาดจะยังขยายตัวต่อเนื่องเพราะเป็นสินค้าจำเป็นชีวิตประจำวัน โดยในส่วนของตลาดไก่สดแช่แข็งที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นได้ 1.25 แสนตันในปีที่ผ่านมา คาดปีนี้จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกอย่างน้อย 2 หมื่นตัน ส่วนตลาดอียูยังไปได้ไม่หวือหวา ปัจจัยลบในช่วงครึ่งปีหลังอยู่ที่ค่าเงินบาทว่าจะผันผวนมากน้อยเพียงใด จากปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รายได้รูปเงินบาทของผู้ส่งออกลดลง ส่วนภัยจากการก่อการร้าย หรือสงครามมองว่าไม่น่าห่วง เพราะสินค้าไก่เป็นสินค้าบริโภคจำเป็น ทั้งนี้สมาคมยังคงเป้าหมายการส่งออกสินค้าไก่ของไทยทั้งปีนี้ที่ 7.7 แสนตัน มูลค่า 9.9 หมื่นบ้านบาท จะมีการปรับเป้าหมายขึ้นไปอีกหรือไม่คงต้องดูตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ เผยว่า ขณะนี้สินค้าอาหารไทยหลายอย่างได้รีบความนิยมตามกระแสเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมะพร้าว น้ำจิ้มไก่ และขนมทานเล่นต่างๆ เป็นต้น รวมถึงร้านอาหารไทยที่ทยอยเปิดกิจการกันมากขึ้นโดยรวมแล้วกว่า 200 ร้าน ซึ่งเป็นที่นิยมในลูกค้าระดับกลางถึงสูง ขณะเวลานี้เกาหลีใต้ประสบปัญหาไข้หวัดนก ทำให้เป็นโอกาสสำหรับไทยในการส่งออกไก่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560