LH Bank ลุยบิ๊กคอร์ป ลงแข่งชิงมาร์เก็ตแชร์ ทุนไต้หวันหนุนเต็มที่

08 มิ.ย. 2560 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2560 | 13:07 น.
แอลเอชแบงก์ มั่นใจหลังแบงก์ไต้หวันใส่เงินทุน1.6 หมื่นล้านบาท ฐานะกองทุนแกร่ง เดินหน้ารุกธุรกิจรายใหญ่เต็มสูบ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนแตะ 70% ยอดคงค้างแตะ 9 หมื่นล้านบาท เผยปีหน้าเตรียมทำธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์เพิ่มรองรับลูกค้า 3-4 พันราย

นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารจะเน้นการศึกษาและติดตามโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะทยอยลงทุน อย่างไรก็ตามจากฐานเงินทุนที่ไม่สูงมากทำให้ธนาคารมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่

[caption id="attachment_159092" align="aligncenter" width="503"] ศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) ศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล)[/caption]

ภายหลังจากเป็นพันธมิตรกับธนาคาร CTBC Bank CompanyLimited หรือ CTBC ที่จะมีการเพิ่มทุนเข้ามาประมาณ 1.6หมื่นล้านบาท จะช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มียอดขายตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไปได้มากขึ้น เนื่องจากสัดส่วนหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ จะเพิ่มขึ้น 100% จากเดิมที่ธนาคารสามารถปล่อยกู้เฉลี่ย 4,800 ล้านบาทต่อราย จะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถเข้าไปแชร์หรือมีส่วนร่วมในการปล่อยกู้รายใหญ่ได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันแนวโน้มธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารจนครบเพดานหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ไม่เกิน 25% ของเงินกองทุน ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายหันไปกู้แหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้น

appLHB ดังนั้นหากธนาคารมีฐานเงินทุนที่สูงขึ้นลูกค้าก็สามารถหันมาใช้บริการแหล่งเงินทุนจากธนาคารได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดลูกค้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการปล่อยกู้โดยตรงหรือการปล่อยกู้ร่วม ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างลูกค้าขนาดใหญ่ (Corporate &Big Corporate) อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ65% ของสินเชื่อรวมทั้งธนาคารที่อยู่ราว 1.6 แสนล้านบาท คาดว่าหลังจากความร่วมมือกับ CTBCที่มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น จะช่วยให้สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่สามารถเติบโตได้ 5% หรือเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ภายในสิ้นปีนี้เป็น 70%

ขณะเดียวกันตั้งเป้าเติบโตยอดสินเชื่อคงค้าง 6-10% ซึ่งในสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มเป็น 1.67 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายย่อย 3 หมื่นล้านบาท ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) 2.5 หมื่นล้านบาทและกลุ่มลูกค้าสหกรณ์อีก 1.5หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ภายในปี 2561 ธนาคารสามารถทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance)ได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างระบบการทำงานเพิ่มเติม ธนาคารจะเริ่มจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ 3,000-4,000 ราย ซึ่งมีทั้งลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,268 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560