วันที่ 15 ธันวาคม 2567 สมาคมโรงสีข้าวไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ณ ศูนย์การประชุมและฝึกอบรมวิชาชีพ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ คนใหม่
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกมาร่วมประชุม กว่า 100 คน ปรากฏว่าสมาชิกได้มีมติเอกฉันท์ เสนอชื่อเพียงคนเดียวและพร้อมใจกันชูมือเลือก นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล ให้นั่งเก้าอี้นายกสมาคมฯ คนที่ 18 ต่อจากนายรังสรรค์ สบายเมือง สิ้นสุดวาระลงจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายบรรจง เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในส่วนคณะกรรมการจะใช้ทีมงานผสมผสานรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยรุ่นใหม่จะอาศัยในเรื่องข่าวสาร รวดเร็วทันสมัย ราคาข้าว ส่วนในเรื่องการเชื่อมโยงของภาครัฐ โดยเฉพาะกรมการข้าว ที่ต้องอาศัยในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวสอดคล้องกับตลาด รวมถึงนโยบายการตลาดของข้าวแต่ละชนิด ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่สมาชิกยังเป็นปัญหาไม่จบก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปสื่อสารกับภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจมากขึ้น
"สมาคมโรงสีข้าวไทยในรอบกว่า 10 ปี มีการแยกสมาคม ก็มีแนวคิดที่จะรวมสมาคมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความปรองดอง สามัคคี ซึ่งในช่วง 4 ปีที่คุณรังสรรค์สะท้อนภาพปัญหา ที่สังคมเข้าใจผิด ในเรื่องราคาข้าวตกต่ำ จะสื่อสารต่อเนื่อง พยายามสร้างความเข้าใจ แม้กระทั่งที่ผ่านมาในเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา ทางสมาคมก็ได้มีการช่วยเหลือทุกรูปแบบ"
นับจากนี้ไปก็จะดำเนินนโยบายต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับชาวนาและผู้ส่งออกจะต้องไปด้วยกันที่จะทำให้การส่งออกข้าวในนามประเทศไทยตรงกับความต้องการของลูกค้า ให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพของข้าวไทย เช่น ตลาดข้าวล่วงหน้า เป็นต้น
เก็บภาพความประทับใจสำหรับบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ชื่นมื่น
"ฐานเศรษฐกิจ" ร่วมขอแสดงความยินดีกับนายกสมาคมโรงสีข้าวคนไทย คนล่าสุด ณ โอกาสนี้ด้วย
"สมาคมโรงสีข้าวไทย" มีวัตถุประสงค์ซึ่งจะกล่าวพอเป็นสังเขป ดังนี้
- ส่งเสริมกสิกรรม และอุตสาหกรรมโรงสีประเภท ข้าว และข้าวเปลือก ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาดภายใน และภายนอกประเทศ และรักษาคุณภาพของสินค้าให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี สมดังความนิยมของผู้ซื้อ
- รวบรวมสถิติการผลิต การจำหน่าย การส่งออกต่างประเทศ และร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิต และการตลาดเกี่ยวกับ ข้าวเปลือก, ข้าวสาร ตลอดจนรวบรวมข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิดของเกษตรกร และผลผลิตของสมาชิกเพื่อเป็นแนวทางเสนอให้รัฐบาลทราบถึงปริมาณว่า มีจำนวนเท่าใดในฤดูกาลหนึ่ง ๆ
- สนับสนุน และช่วยเหลือมวลสมาชิก เพื่อแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ สอดส่อง และติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด ทั้งตลาดภายใน และภายนอกประเทศ รวมทั้งการประสานความสามัคคี แลกเปลี่ยนความคิด เห็นในด้านวิชาการ,ข่าวสาร การวิจัยเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มของผู้อุปโภค-บริโภค
- เพื่อช่วยเหลือสังคมส่วนรวม และสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมพลานามัย, การกีฬา,บันเทิง และให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกด้านงานสวัสดิการ
วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการขจัดช่องว่างระหว่างผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวกับชาวนา และทางราชการเพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ปัจจุบัน สมาคมโรงสีข้าวไทยมีผู้ประกอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกมากกว่า 800 ราย
ทำเนียบนายกสมาคมฯ
ย้อนอดีตกลับไปในปี พ.ศ.2521 ในคำปรารภของ “หนังสือ อนุสรณ์ของสมาคมโรงสีข้าว ไทย-ฉบับปฐมฤกษ์” มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า“ชาวนากับผู้ประกอบอุตสาหกรรมโรงสีข้าวเป็นของคู่กันและถือว่าชาวนาเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบอุตสาหกรรมโรงสีข้าวอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีชาวนา ก็ไม่สามารถมีผู้ประกอบการโรงสีได้ ดังนั้น เมื่อสามารถตั้งสมาคมโรงสีข้าวไทย ก็ได้พยายามหาทางเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เห็น ทางเลือกที่เห็นว่าดีที่สุด ในกรรมวิธีประกอบธุรกิจค้าข้าว อันจะส่งดีต่อชาวนา และเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามสมควร”
ด้วยเหตุผลอันสำคัญยิ่งของการพัฒนากระบวนการผลิตและค้าข้าวของประเทศ อันจะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งชาวนา และผู้ประกอบอุตสาหกรรมโรงสีข้าวดังกล่าว ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับ นายเจริญ อุ่นอนันต์ เจ้าของ และผู้จัดการ หจก.โรงสีกิจวัฒนา 1-2 ต.เพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ดำริที่จะจัดตั้งสมาคมโรงสีข้าวไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2521